วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

แชร์ประสบการณ์ ลูกชาย 9 ขวบผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอมซิลที่เมืองไทย (วันที่ผ่าตัด)

 หลังจากที่นัดคุณหมอ เอ็กซเรย์ดูว่าอะดีนอยด์เป็นยังไง สรุปก็ยังโตอยู่กว่าเด็กทั่วไป 30 % แต่เล็กลงจาก 4-5 ปีที่แล้ว ก็เลยไปคุยเรื่องค่าใช้จ่ายที่การเงิน ก็โอเคเป็นราคาที่เรารับได้ แต่แอบแพงกว่าตอนของลูกสาวของลูกพี่ลูกน้องเรา แต่ก็อย่างว่าเวลาผ่านไป อะไรก็แพงขึ้น

23 กค. วันผ่าตัด

การผ่าเป็นแบบดมยาสลบ งดอาหารตั้งแต่ 8.00 น.ของวันที่ผ่า  แล้วก็ให้มาถึงที่ร.พ. 9.00 น. ลูกเราคือแทบไม่ทานอะไรเลย เพราะกลัวการไปร.พ. ก็เท่ากับว่าเมื่อวานก็ไม่ได้ทาน วันนี้ก่อนผ่าตัดก็ไม่ทานอีก เรากังวลมาก ก็ไม่รู้จะทำยังไง พอได้ห้องพักเรียบร้อยแล้ว ลูกเราผ่า 16.00 น. ก็เปลี่ยนเป็นชุดของร.พ. แล้วก็รอที่ห้องผู้ป่วย สักพักพยาบาลเอาน้ำแดงมาให้ดื่ม บอกคุณหมอบอกให้ดื่มไว้ก่อน เราก็เลยเอะใจเพราะได้ยินมาว่าต้องงดไม่ใช่เหรอ พยาบาลก็บอกว่า เป็นสไตล์ของคุณหมอท่านนี้ ว่าจะให้ดื่มก่อน ก็โอเค พอจะมีอะไรรองท้องนิดนึง 

พอถึงเวลาผ่า ก็พาไปดมยาสลบ ลูกเราขัดขืนอย่างแรง แต่พอยาออกฤทธิ์  นิ่งตาค้างเลย เราตกใจมาก ตัวไม่ขยับ ตาค้าง เราหน้าซีดเลย จะเป็นอะไรหรือเปล่า พยาบาลก็บอกว่าไม่เป็นไร เป็นแบบนี้กันทุกคน เพราะยาเริ่มออกฤทธิ์แล้ว  แล้วก็พาเข้าห้องผ่าตัด แม่เข้าไปด้วยไม่ได้ ก็รออยู่ห้องข้าง ๆ ใช้เวลาผ่าตัด 30 นาที ระหว่างนั้นภาวนาอย่างเดียวเลยขอให้ปลอดภัย ๆ  พอผ่าตัดเสร็จคุณหมอก็ออกมา แล้วก็บอกว่าต่อมทอมซิลก็โตนะ เลยตัดออกไปด้วย เดี๋ยวจะมีพยาบาลถือมาให้ดูที่ตัดไป จะถ่ายรูปก็ได้ เพราะเขาจะต้องส่งที่ตัดไปตรวจอีกว่าปกติ หรือผิดปกติหรือเปล่า 

ต่อมที่ตัดไป เราก็ถ่ายรูปมาเหมือนกัน แต่คงลงให้ดูไม่ได้ เพราะอ่ะนะ อวัยวะภายใน 

พอยาสลบเริ่มหมดฤทธิ์ หลังจากผ่าแป๊ปนึง ยังไม่ได้ออกจากห้องผ่าตัด พอลูกเรารู้สึกตัว โวยวายร้องเสียงดังลั่นร.พ. เลย เสียงร้องก็ผิดจากเดิม เหมือนจะทุ้ม ๆ พูดฟังไม่ชัด ร้องแต่บอกว่า "ตา ๆ " ก็ถามพยาบาล ว่าเป็นอะไรมากหรือเปล่า พยาบาลก็บอกว่า มีการป้ายยาที่ตาด้วย เพราะตอนผ่าตัดจะร้อนมากเลย ระวังเรื่องตา เพราะฉะนั้นตาก็จะพร่า ๆ สักพักนึง แล้วพยาบาลก็เอาสำลีชุบน้ำเกลือเช็ดเปลือกตา ก็เหมือนจะดีขึ้น  แต่ร้องตลอด คุณหมอก็กังวลว่าจะมีเลือดออกด้านในหรือเปล่า เพราะสียงร้องดังมาก กลัวไปกระเทือนกับแผลที่ผ่าตัด ก็โอเคไม่มีเลือดออก 

แล้วคุณหมอก็มีมาบอกให้ทำ 3 ข้อนี้หลังจากผ่าตัด เราจำได้แค่ 2 ข้อ

1. ทานของเย็นอย่างไอศครีม โยเกริ์ต ข้าวต้ม โจ๊ก  ถ้าเป็นของร้อนอยู่ก็ปล่อยให้เย็นก่อน แล้วก็บี้ให้เละ ๆ  ของทอดงด  อาหารปกติยังทานไม่ได้ ให้ทานของอ่อน ๆ 

2. ดุแลช่องปากให้สะอาด บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ  ถ้ามีเลือดออก น้ำที่บ้วนก็จะเป็นสีแดง ก็ให้ติดแจ้ง ร.พ. 

ข้อ 3 จำไม่ได้อ่ะ

หลังจากนั้นก็เป็นช่วงพักฟื้นที่ห้องคนไข้ นอนค้างที่รพ. 1 คืน มีให้ทานยาแก้ปวด  แล้วก็จะคอยเอาเจลแช่เย็นมาประคบที่ลำคอ ช่วยลดการอาการเจ็บ 

ยาที่ได้หลังจากผ่าตัด 

ยาฆ่าเชื้อ 3 มื้อ ทาน 3 อาทิตย์ (24 กค. - 13 สค.)

ยาห้ามเลือด 3 มื้อ ทาน 10 วัน 

ยาแก้แพ้ ทาน 2 มื้อ เช้ากับเย็น ทาน 10 วัน

นอกนั้นเป็นยาตามอาการ  ยาแก้ปวด ยาแก้ไอแบบน้ำ

ลูกเราก็มียาที่ทานประจำอยู่ เราก็เลยโทรกลับมาญี่ปุ่น ถามเจ้าหน้าที่ที่จ่ายยาให้ว่า ลูกเราผ่าตัดอะดีนอยด์ทีไทย ได้ยาแบบนี้มา สามารถทานร่วมกับยาที่ทานอยู่ได้มั้ย เจ้าหน้าที่ก็เช็คอยู่สักพัก ก็บอกว่าได้ ค่อยโล่งอกหน่อย จริง ๆ คุณหมอที่ผ่าตัดก็บอกแล้วล่ะว่าทานร่วมกันได้ แต่เพื่อความชัวร์อ่ะเนอะ


ปัญหาก็คือหลังจากผ่าตัดแล้ว ลูกเราแทบไม่ทานอะไรเลย ทั้งไอศครีม มีดื่มน้ำบ้าง แต่ดูกลืนลำบาก ๆ  น่าสงสารมาก ๆ อ่ะ แต่ก็ต้องเข้มแข็งไว้ก่อน ลูกเราจะได้ไม่ตกใจไปมากว่านี้

วันเสาร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

แชร์ประสบการณ์ ลูกชาย 9 ขวบผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์และต่อมทอมซิลที่เมืองไทย (่ก่อนผ่าตัด)

 ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่าเราสงสัยว่าลูกเราจะต่อมอะดีนอยด์โตหรือเปล่า เพราะลูกเราพัฒนาการช้าตั้งแต่เล็ก ก็เลยหาข้อมูลของญี่ปุ่นว่าเราจะช่วยเรื่องพัฒนาการของลูกเรายังไง ก็มีข้อมูลทางเน็ตว่าอาจจะเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์โตด้วย ก็เลยเอาเรื่องนี้ไปถามคุณหมอหู คอ จมูกที่ญี่ปุ่น คุณหมอที่นี่ก็บอกว่าเด็กยังเล็กเกินไป (4 ขวบ) แล้วเด็กเล็ก ๆ ก็จะมีต่อมอะดีนอยด์โตอยู่แล้ว พอโตขึ้นสัก 10 ขวบก็จะเล็กลง ปกติเอง ก็คือคุณหมอเขาไม่ตรวจให้อ่ะนะ เลยลองหาข้อมูลทางไทยดู โชคดีมากที่ลูกสาวของลูกพี่ลูกน้องเราเขาก็เคยผ่าตัดตอน 5 ขวบมาแล้ว เลยแนะนำโรงพยาบาล และคุณหมอมาให้ 

ปีนั้นพอกลับมาที่ไทย ก็พาลูกเรา (4 ขวบ) ไปโรงพยาบาล แล้วก็ระบุคุณหมอท่านนั้นด้วย คุณหมอเข้าเย็น ก็มาได้ตรวจอีกทีก็เกือบ 1 ทุ่ม ผลเอ็กซเรย์ คุณหมอบอกว่าโตจริง น่าจะได้รับการผ่าตัด แต่เราอยู่ไทยแค่ 10 วัน ก็เลยคุยกับคุณหมอให้ออกใบรับรองแพทย์ให้ เผื่อจะได้มาคุยกับคุณหมอที่ญี่ปุ่นเรื่องการผ่าตัด่ต่อ คุณหมอที่ไทยก็เลยให้ยาปฏิชีวนะมา 1 เดือน  แล้วก็บอกว่าถ้าทานยาแล้วยุบลงก็ไม่จำเป็นต้องผ่า ก็ลองไปเอ็กซเรย์ที่ญี่ปุ่นดู

พอกลับมาที่ญี่ปุ่น พอครบเดือนยาที่ไทยหมด ก็หาโรงพยาบาลที่เขาดูเรื่องต่อมอะดีนอยด์ แถวบ้านเราไม่มี ต้องนั้งรถไฟไปอีก 2 สถานีถึงจะมี  ที่นี่เป็นอะไรที่เข้าโรงพยาบาลรักษายากมาก ถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์มา ที่ยากมาก ๆ เพราะเขาจะไม่รับคนไข้ต่อจากที่อื่น โชคดีที่เรามีใบรับรองมาจากที่ไทย ก็เลยได้เข้ารักษา (ของเด็กที่ญี่ปุ่นจะรักษาฟรี)   ก็เลยให้คุณหมอที่ญี่ปุ่นดู CD ของฝั่งไทย เขาก็บอกว่าโต ก็เลยให้ไปเอ็กซเรย์อีกครั้ง ก็สรุปว่าโต ก็เลยได้รับการรักษาต่อเนื่อง แต่หมอที่ญี่ปุ่นยังไงก็ไม่ยอมผ่าตัดให้ บอกลูกเรายังเล็ก (คิดอยู่เลย แล้วทำไมที่ไทยเขาผ่าตัดให้ได้ เซ็ง)

สรุปก็ให้ทานยาปฏิชีวนะไปเรื่อย ๆ 3 เดือน แล้วก็ไปตามนัด (ยาหมด) ทานยาตัวนี้เป็นปี ก็เปลี่ยนเป็นยาแก้แพ้ ก็ให้แต่ยาแก้แพ้มาตลอด 3 ปี ก็คือจากวันที่ไปเอ็กซเรย์ที่ไทย ก็ทานแต่ยามาตลอดเกือบ 5 ปี  เคยถามเรื่องการผ่าตัด คุณหมอก็จะอ้างเหตุผลว่าลูกเรายังเล็ก แล้วอีกอย่างอยู่ไม่นิ่งด้วย ตอนผ่าตัดอาจจะมีปัญหา แล้ววันนึงคุณหมอญี่ปุ่นก็มาบอกว่าไม่ต้องนัดมาแล้วก็ได้นะ ถ้ามารับแต่ยา สามารถไปยาที่คลินิคแถวบ้านก็ได้ อ้าว คือจะไม่ดูให้แล้วใช่มั้ย

ต่อมอะดีนอยด์โต เนี่ย (รู้สึกโมโห) ช่วงก่อนหน้านั้นก็ติดโควิด ไม่ได้กลับไทย 3 ปี ถ้าไม่ติดโควิด คงได้พาลูกเราไปตรวจและผ่าตัดที่ไทยเร็วกว่านี้แล้ว

จบที่มาของการรู้ว่าลูกมีต่อมอะดีนอยด์โต  

พอได้แพลนกลับเมืองไทย เราก็ติดต่อกับโรงพยาบาลว่าจะต้องนัดล่วงหน้าหรือเปล่า โชคดีที่มาตรการโควิดเริ่มคลายความเข้มงวดแล้ว ก็เลยไม่ต้องนัดล่วงหน้า พยาบาลบอกว่า Walk in เข้ามาได้เลย ช่วงนั้นเราโทรถามกับโรงพยาบาล เป็นระยะ ๆ ว่าคุณหมอจะเข้ามั้ยวันนี้ เพราะเรามีเวลาจำกัด อย่างมากสุดก็ 3 อาทิตย์เอง (ช่วงลูกปิดเทอมหน้าร้อน) 

ก็เลยแพลนว่าปิดเทอมปุ๊บ วันรุ่งขึ้นก็เดินทางเลย แต่เราไม่บอกให้ลูกเรารู้นะว่าจะพาเขาไปผ่าตัด เพราะเดี๋ยวเขาจะกังวล จะไม่ให้ความร่วมมือ 

วันก่อนผ่าตัด (22 กค.)

พอลูกเรารู้แล้วว่าพามาที่โรงพยาบาล ความอยากอาหารก็ไม่มีเลยทั้งวัน  ไม่ค่อยทานอะไรเลย ทั้ง ๆ ที่จะต้องทานให้อิ่ม เพราะก่อนผ่าตัดต้องอดน้ำ อดอาหารหลายชั่วโมง  พอเจอคุณหมอ ก็พาไปเอ็กซเรย์  ก็ปรากฏว่ายังโตอยู่ แต่เล็กลงกว่าเมื่อ 4 - 5 ปีที่แล้ว แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ใหญ่กว่าเด็กทั่วไป 30 % แล้วก็เหมือนว่าต่อมทอมซิลก็โตด้วยนะ ถ้าผ่าตัดก็จะดูให้ว่าทอมซิลโตหรือเปล่า ถ้าโตก็จะผ่าออกเลยทีแล้ว จากนั้นคุณหมอก็ให้ไปเช็คค่าใช้จ่ายกับการเงิน แล้วก็คุย ๆ เตรียมผ่าตัดวันรุ่งขึ้นเลย ่ของลูกเรา ผ่าเวลา 16.00 น. แต่ให้งดอาหารตั้งแต่ 8.00 น. แล้วก็ให้มาถึง รพ. 9 .00 น. 

การเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการผ่าตัด



วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เนื้อหางานแม็คโดนัลที่ปัจจุบัน

 พอคิดที่จะเปลี่ยนงานจากที่เดิมเป็นที่ใหม่ เราก็เริ่มค้นหาจาก Google ว่ามีร้านแม็คที่สามารถเดินทางไปได้เปิดรับสมัครอยู่หรือเปล่า ก็มาเจอที่ปัจจุบันที่ทำอยู่ ก็สมัครลงวันเวลาที่เราสามารถติดต่อได้ สักพักก็มีผู้จัดการร้านโทรมานัดสัมภาษณ์ ก็เหมือนเดิม เตรียมเอกสารสมัครงาน เขียนเรซูเม่ พอถึงวันก็ไปสัมภาษณ์ ก็เป็นปกติที่เขาจะถามว่าทำไมถึงลาออกจากที่เก่า เราก็ให้เหตุผลไปว่าเราไม่สะดวกเข้าตอนเช้า (ที่นี่เริ่ม 10 โมง) คุย ๆ สัมภาษณ์ ครั้งนี้ไม่มีแบบทดสอบ คงเพราะเคยทำมาก่อนหน้านั้น ก็สัมภาษณ์อย่างเดียว แล้วผู้จัดการร้านก็บอกเราเลยว่า รับเข้าทำงาน ... เย้ ^^

พอกำหนดวันเริ่มงาน ก็มาเข้างาน ตอนแรกก็จะมีคนมาเทรนงานให้เรา เราพอเป็นแล้วเขาก็ไม่ได้เทรนอะไรให้เป็นพิเศษ แต่เรารู้สึกงานระบบงานไม่ค่อยเหมือนที่เก่า ถึงจะเป็นแม็คเหมือนกัน เราก็ต้องมาเรียนรู้งานเองจากรอบ ๆ ตัว ว่าเขาทำอะไรยังไง ก็ดู ๆ แล้วก็มาปฏิบัติตาม

งานที่นี่จะวนกันทุก ๆ 1 ชั่วโมง อย่าง 1 ชั่วโมง ถ้าเราทำ イニシエーター เอาขนมปังใส่เครื่อง เตรียมกระดาษ ใส่ซอส พอครบหนึ่งชั่วโมง ก็จะเปลี่ยนหน้าที่เป็น グリル―アッセン(アッセンブラー)หน้าที่นี้ก็คือการย่างเนื้อ ทอดไข่ วางผัก วางเนื้อที่ขนมปัง ห่อกระดาษ พอครบหนึ่งชั่วโมงก็จะเปลี่ยนมาเป็น フライポテト หน้าที่นี้ก็คือการทอด กับทอดเฟรนฟราย 



แล้วก็จะมีอีกหน้าที่หนึ่งก็คือ ストッカー หน้าที่นี้ก็คือทำทั้งย่างกับทอด แต่ร้านนี้ส่วนของการย่างกับทอดอยู่คนละฝั่งกันเลย หัวหน้างานก็จะมอบหมายให้ทำก็ช่วงที่ลูกค้ายังน้อย ๆ อยู่ 

ที่ร้านนี้จะมีให้ทำความสะอาด グリストラップ  (ตามรูปด้านล่าง รูปจาก Google) เหมือนพนักงานจะต้องทำงวน ๆ กันไปค่ะ 


ค่าจ้างรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 1000 เยน (ต.ค. 2022)

เพิ่มเป็น 1050 เยน (ต.ค. 2023)







วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2565

เนื้อหางานที่แม็คโดนัล (ที่แรก)

 แม็คโดนัลที่เราทำที่แรก พออบรมเสร็จ ก็จะเป็นส่วนให้มาทำงานด้านในแบบจริงๆ แล้วหัวหน้างานที่สอนเราก็จะมาดู ๆ มาสอนเรา พอใกล้จะครบจำนวนชั่วโมงที่เรากำหนด หัวหน้างานก็จะมาประเมินงาน พูดให้เราฟังมาเราทำงานยังไง มีอะไรที่ต้องปรับปรุง 

ครั้งแรกที่เขาให้เราฝึก ก็คือการย่างเนื้อ เนื้อที่เขาใช้มีกี่ประเภท แล้วเขาจะมีเอกสารแปะเลยนะ ว่าจะต้องวางเนื้อยังไง ถ้า 8 ชิ้น (มากสุด) ถ้า 7 ชิ้นวางยังไง 6 ชิ้นวางยังไง เป็นต้น 

แล้วก็วิธีการตักเนื้อย่างจากเตา วิธีการวางในถาดของแม็คที่เขากำหนด 

จากนั้นก็มาเป็นของทอด ของทอดแต่ละชิ้นเรียกว่าอะไร กดปุ่มตรงไหน ของทอดประเภทนี้จะใช้กับอุปกรณ์ตัวไหน อย่างนักเก็ต ก็จะไม่มีฝาปิด ใช้อุปกรณ์แบบนี้ เนื้อไก่แบบนี้ก็จะใช้แบบนี้ ทอดที่ช่องนี้ 

ที่เขาต้องแยกช่องอย่างชัดเจนเลยก็คือของทะเล (กุ้ง ปลา) เพราะมีเรื่องแพ้อาหารของลูกค้า ช่องทอดพายก็ต้องช่องนี้โดยเฉพาะ 

ส่วนเฟรนฟรายเขายังไม่สอน เพราะเขาบอกเฟรนฟรายคือของหลักของแม็คเลย ไว้ชินก่อนแล้วค่อยมาทำ

พอทำส่วนของย่าง กับของทอดแล้ว ก็มาให้เราทำใส่ขนมปังลงในเครื่อง กระดาษที่ใช้ห่อ แบบนี้ใช้กับ 

ダブルちーズバーガー แบบกล่องแบบนี้ใช้กับ ビッグマック ฯลฯ เป็นต้น

เราจะต้องจำว่าขนมปังแบบไม่มีงา ต้องใช้กับเมนูไหน แบบมีงาใช้กับเมนูไหน หน้าจอที่ขึ้นมอนิเตอร์ (ชื่อย่อ) หมายถึงเมนูไหน 

เราทำตรงส่วนนี้ (เอาขนมปังใส่เครื่อง) เกือบทุกครั้งที่เราเข้างาน จนเราชินกับงานส่วนนี้ที่สุด งานส่วนนี้เขาจะเรียกว่า イニシエーター (イニシ)

(รูปจาก Google)


มีบ้างที่หัวหน้างานให้เราไปทำความสะอาด ห้องน้ำ เพดาน ถังขยะ เฮ้อ ก็ต้องทำอะนะ 

พอเริ่มชินกับเมนูมื้อกลางวัน เขาก็เริ่มให้เรามาเข้าตอนเช้า เมนูอาหารเช้า เนื้อหาที่จะต้องทำต้องจำ เยอะพอ ๆ กับเมนูมื้อกลางวันเลย แต่สำหรับเรา เมนูมื้อเช้าจำยากกว่าเมนูมื้อกลางวันนะ ไม่รู้เพราะอะไร 555

งานที่เรา่ทำตอนเมนูมื้อเช้า ก็จะมีย่างมัฟฟิน ทอดไข่ ทำไข่คน ทำแพนเค้ก ย่างเนื้อ ใส่ขนมปัง เตรียมกระดาษย่อ ตลอดจนถึงทำเป็นเบอร์เกอร์เลย หลายครั้งมีเราอยู่คนเดียวตอนเช้า ยุ่งสุด ๆ เพราะทุกอย่างคือเวลา ไม่รีบทำตรงนี้ ตรงนี้ก็จะไหม้ อ้าวตรงนี้เดือดแล้ว อ้าว... เราเลยไม่ไหวกับมื้อเช้า เราเลยเริ่มคิดที่จะเปลี่ยนไปทำแม็คที่ไม่มีเมนูมื้อเช้า 

ก็เป็นที่มาของที่ทำงานปัจจุบัน ^^


ค่าจ้างรายชั่วโมงครั้งแรกเลย 960 เยน/1 ชั่วโมง พอเดือนต.ค. ปี 22 ก็ขึ้นเป็น 964 เยน/ชั่วโมง





วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2565

วิธีรักษาเบอร์มือถือของไทยไว้ + ไว้คอยรับ SMS จากไทยได้ด้วย

 จากคำแนะนำของเพื่อนเรื่องการรักษาเบอร์มือถือไทย + รับ SMS ของไทยได้ถึงแม้ว่าจะอยู่ที่ญี่ปุ่น ก็เลยทำให้คิดที่จะรักษาเบอร์ที่ซื้อที่สนามบิน แล้วครั้งนี้เบอร์ก็จำง่ายดี เลยตัดสินใจสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ศูนย์เพิ่มเติม 

เราใช้ของ AIS ขั้นตอนก็ไม่มีอะไร ก็คือเติมเงิน 10 บาท วันก็อยู่เพิ่ม 30 วัน ถ้าจะให้อยู่เป็นปี ก็เติม 10 บาท 12 ครั้ง ซิมเบอร์นั้นก็ใช้ได้ 30 * 12 = 360 วัน แล้วทำเรืองเปิดโรมมิ่ง กลับญี่ปุ่นก็จะรับ SMS ได้ แต่ถ้าใช้อินเตอร์เน็ทก็จะเสียเงิน เจ้าหน้าที่เลยบอกวิธีโทรปิดอินเตอร์เน็ทให้ พอมาไทยครั้งต่อไป ก็โทรไปเปิดอินเตอร์เน็ท (แต่วิธีนี้เราไม่ได้ใช้ ลืม)

เพื่อนก็แนะนำวิธีมาเพิ่มคือ ให้ 2 หน้าจอนี้เปิด - ปิด สลับกันตอนอยู่ญีปุ่นกับตอนมาไทย 

ก็เป็นอันว่ามีเบอร์ของไทยหล่ะ จำง่าย ถ้าถูกถามเบอร์ไม่ว่าจะติดต่อเรื่องอะไรก็สามารถบอกได้ทันที ที่ผ่านมาจำไม่ได้ เลยบอกเบอร์ของพี่ชายไป คือเป็นการรบกวนพี่ชายอย่างมาก เป็นการติดต่อเรื่องของตัวเองแท้ ๆ แต่กวนเขาตลอด

แล้วอีกอย่างคราวต่อ ๆ ไป ก็ไม่ต้องเสียเวลาซื้อซิมที่สนามบินแล้ว รอคิวนานมาก ๆ ที่สำคัญทำธุรกรรม ลงแอพของธนาคารได้ด้วย 

เครื่องในรูป ซัมซุง Galaxy A22