แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตั้งครรภ์ - อบรมคอร์สคุณแม่ (คุณพ่อ) แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ตั้งครรภ์ - อบรมคอร์สคุณแม่ (คุณพ่อ) แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมพ่อแม่ของทางโรงพยาบาล เรื่องกรณีที่สามีเข้าห้องคลอดด้วย

เราก็ไม่รู้ว่าที่เมืองไทย เวลาที่ภรรยาคลอด แล้วสามีต้องการเข้าไปในห้องคลอดด้วย จะต้องมาฟังการอบรมหรือเปล่า แต่ที่โรงพยาบาลนี้เขาให้พาสามีมาฟังด้วย เพื่อที่ว่าสามีจะได้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างในตอนนั้น

เมื่อถึงเวลาอบรม พยาบาลก็มาเปิดวีดีโอให้ดู จะเป็นเรื่องบทบาทของคุณพ่อที่มีต่อทารก ซึ่งคุณแม่หลายคนก็คงรู้อยู่แล้วว่าตอนที่ทารกอยู่ในท้องก็จะได้ยินเสียงจากภายนอก ซึ่งถ้าคุณพ่อมาพูดคุยกับทารกตอนที่ยังอยู่ในท้องด้วย ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์กันมากขึ้น เมื่อทารกคลอดออกมาก็จะคุ้นเคยกับเสียงของพ่อแม่ที่คอยพูดคุยกับเขาเมื่อตอนที่เขายังอยู่ในท้อง ในวีดีโอที่เราดูจะสื่อประมาณว่า บทบาทของแม่ก็คือเป็นที่พักพิง ให้ความอบอุ่น ในเวลาที่แม่อุ้มกอด ทารกจะรู้สึกถึงความปลอดภัย ไร้ความกังวล ในขณะที่บทบาทของพ่อนั้นจะเป็นคล้าย ๆ ผู้ที่มาให้ความบันเทิง มาเล่นด้วย อยู่ด้วยแล้วสนุก

พอดูวีดีโอจบ พยาบาลก็ให้สามีแต่ละคู่แนะนำตนเอง แล้วก็กำหนดคลอดลูกวันที่เท่าไหร่ ท้องนี้เป็นลูกคนที่เท่าไหร่ คุณซูพูดรัวเชียว คงเขิน ๆ + ตื่นเต้นมั้ง อิอิ

ในวันนี้เสียดายที่พยาบาลพาไปดูห้องพักหลังจากคลอดไม่ได้ เพราะมีคนที่จะคลอดในวันนี้พอดี คุณซูเลยอดดูเลย ว่าห้องเป็นยังไง แต่จริง ๆ เราก็อธิบายให้คุณซูฟังแล้วหล่ะ ว่าห้องเป็นแบบนี้ ๆ

หน้าที่ของสามีในห้องคลอดของโรงพยาบาลนี้ก็คือ ตอนที่ภรรยาเจ็บท้องคลอด จะให้ช่วยนวดหลัง เพื่อจะได้ทำให้รู้สึกดีขึ้น เวลาที่เบ่งคลอด โดยปกติผู้หญิงจะเงยหน้าขึ้น แต่จะให้สามีคอยจับหัวให้ลง แล้วคอยพูดให้กำลังใจ ป้อนน้ำ ประมาณว่าเป็นผู้ช่วยพยาบาลอีกทีนึง  แล้วหลังจากที่คลอดเสร็จ ก็จะมีเวลาให้ถ่ายรูปประมาณ 5 นาที แต่ห้ามมือถือ เพราะเกี่ยวกับเรื่องสัญญาณ เพราะสัญญาณมือถืออาจจะส่งผลกับเครื่องที่ใช้ภายในห้อง ก็เลยให้แต่กล้องดิจิตอล หรือกล้องวีดีโอ

ไม่รู้ว่าพอถึงเวลานั้นจริง ๆ จะเป็นยังไงเนอะ


วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของโรงพยาบาล ครั้งที่ 3 (เกี่ยวกับการคลอด, เตรียมของเข้าโรงพยาบาล, ชมห้องคลอด)

วันนี้มีอบรมคอร์สคุณแม่ของทางโรงพยาบาลครั้งที่ 3 จริง ๆ เราตั้งใจจะจองเข้าอบรมในเดือนที่แล้วแล้ว แต่ว่าของเดือนที่แล้วเต็ม ก็เลยมาของเดือนนี้ มาของเดือนนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะยังจำได้อยู่ว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเกิดเจ็บท้องคลอดขึ้นมา

พอถึงเวลาพยาบาลก็มาเปิดวีดีโอให้ดู วีดีโอนี้เหมือนของที่สำนักงานเขตเข้าเคยเปิดให้ดูเลย คือให้ดูว่าคลอดธรรมชาติคลอดยังไง หายใจแบบไหน ตอนที่หัวของทารกออกมาแล้วต้องหายใจยังไง ดูแล้วนึกถึงตอนของตัวเองว่าจะเป็นยังไง เสียว >< คงเจ็บน่าดู

พอดูเสร็จแล้ว พยาบาลก็จะพูดถึงว่า ถ้าเจ็บท้องขึ้นมาแล้ว ควรจะเข้าโรงพยาบาลตอนไหน ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะแบบนี้คือสัญญาณที่ว่าใกล้จะคลอดแล้ว คือ
1. ในบางครั้งท้องจะเริ่มแข็ง
2. รู้สึกว่ามดลูกอยู่ต่ำลง
3. การดิ้นของทารกจะช้าลง
4. ปวดเอวปวดสะโพก
5. ปัสสาวะบ่อย
6. เจ็บท้องเตือน (คือปวดท้องแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน โดยปกติจะเริ่มมีอาการปวดตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 35 ไปแล้ว) ซึ่งถ้าเจ็บท้องเตือนแล้ว  พยาบาลแนะนำว่าให้จดเวลาเอาไว้ การบีบตัวของมดลูกในช่วงนี้จะมากกว่า 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง หรือมากกว่า 1 ครั้งในทุก ๆ 10 นาที ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แล้วนั่นก็หมายความว่าเป็นการเริ่มต้นของการคลอด
7. เจ็บท้องคลอด
8. จะมีเลือดออกมาเล็กน้อย  แบบเหนียว ๆ มาพร้อมกับตกขาว (ซึ่งก็คือสัญญาณเตือน)
9. น้ำคร่ำเดิน  จะเป็นลักษณะเดี๋ยวไหลเดี๋ยวหยุด กลิ่นจะออกเปรี้ยว ๆ ซึ่งถ้ามีน้ำคร่ำเดินแล้ว ให้ใส่ผ้าอนามัยแล้วโทรไปที่โรงพยาบาลก่อน แล้วเดินทางไปโรงพยาบาล

หมายเหตุ บางคนอาจจะมีน้ำคร่ำเดินก่อนที่จะเจ็บท้องคลอดก็ได้ ให้รีบไปโรงพยาบาล

ลำดับการคลอดจะมีด้วยกันอยู่ 3 ช่วงคือ
การคลอดระยะที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่เจ็บท้องคลอด จนถึงปากมดลูกเปิดเต็มที่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับคนที่คลอดเป็นครั้งแรก ระยะที่ 1 นี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 10 - 12 ชั่วโมง  สำหรับคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว ระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 5 - 6 ชั่วโมง

การคลอดระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว จนถึงทารกคลอดออกมา สำหรับคนที่คลอดเป็นครั้งแรก ระยะที่ 2 นี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 1 - 2 ชั่วโมง สำหรับคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว ระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 30 นาที
ในช่วงที่หัวทารกออกมาแล้ว ให้หายใจแบบผ่อนคลาย ช้า ๆ

การคลอดระยะที่ 3 จะเป็นคลอดรกออกมา ซึ่งจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 5 - 15 นาที

เจ้าหน้าที่ก็มีพูดถึงวิธีการหายใจในตอนคลอดด้วย แต่ ณ เวลานั้นแต่ละคนคงตื่น ๆ ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งทางที่ดีที่สุดให้ฟังที่พยาบาลบอกว่า ตอนไหนให้หายใจเข้า ตอนไหนให้หายใจออก

ในการอบรมครั้งนี้ มีให้แนะนำตัวเองด้วย ให้บอกว่าชื่ออะไร กำหนดการคลอดเมื่อไหร่ ถ้ารวมเราด้วยแล้ว จะมีคนต่างชาติอยู่ 4 คน คือเรา (ไทย) คนจีน คนกัมพูชา แล้วอีกคนไม่รู้ชาติอะไรเพราะเขาไม่ได้บอกมา  ดีใจเหมือนกันที่มีคนต่างชาติมาคลอดที่นี่ จะได้มีเพื่อน

จากนั้นก็พูดถึงเรื่องประเภทการคลอด ซึ่งเราเคยเขียนไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนี้
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/06/birth-plan.html
ซึ่งเราเลือกคลอดแบบธรรมชาติแล้วก็ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย ซึ่งใครที่ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย ก็จะมีการอบรมในเรื่องนี้อีกครั้งนึงในสัปดาห์หน้า ครั้งนี้คุณซูก็จะเข้าอบรมด้วย


ต่อมาก็พูดถึงเรื่องของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ตอนที่เข้าโรงพยาบาล โดยพยาบาลโชว์ถุงใหญ่มากให้ดู แล้วก็โชว์ของที่อยู่ในถุง ซึ่งเราก็เคยเขียนไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนี้
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/blog-post_27.html

ก็คือที่เราจะเตรียมไปก็จะมีสมุดสุขภาพแม่และเด็ก บัตรประกันสุขภาพ บัตรต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง  อิงคัง  เอกสารพวกใบเสร็จตอนที่จ่าย 1 แสนเยนเมื่อเดือนก่อน ๆ  ชุดชั้นใน (เพราะของที่โรงพยาบาลเตรียมให้คงไม่พอ)    เสื้อใส่ตอนออกจากโรงพยาบาล

ในช่วงที่อยู่โรงพยาบาล จะไม่ให้แต่งหน้า น่าจะรวมถึงไม่ให้ทาโลชั่นด้วยมั้งนะ
ส่วนของเด็กในตอนที่ออกจากโรงพยาบาล ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรไปเหมือนกัน เพราะทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดตอนออกจากโรงพยาบาล ผ้าห่อตัวเด็ก แต่ถ้าใครจะมีชุดพิเศษสำหรับลูกจะไม่ใช้ชุดของทางโรงพยาบาล ก็สามารถแจ้งได้

สุดท้ายก็ให้ชมห้องคลอด ห้องพักฟื้น
ห้องที่เราเลือกจะเป็นห้องส่วนตัว ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ลักษณะของห้องก็จะมีเตียง โซฟา ห้องน้ำ อ่างล้างหน้า ลืมดูว่ามีพวกทีวี ตู้เย็นหรือเปล่า ส่วนที่อาบน้ำก็จะเป็นที่อาบรวม แยกออกไป

ส่วนห้องแบบที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็คล้าย ๆ ของที่เราเลือกแต่จะเพิ่มห้องอาบน้ำ อ่างล้างหน้าใหญ่ขึ้น ห้องกว้างขึ้น

นี่ก็ใกล้แล้วเนอะ พยาบาลบอกว่าอายุครรภ์ที่สามารถคลอดได้แบบไม่มีปัญหาก็คืออยู่ที่ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึงที่ประมาณ 41 สัปดาห์ ก็ขอให้คลอดตามกำหนดเถิดนะ เพี้ยง















วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมแม่ของสำนักงานเขต ครั้งที่ 4 (พูดเกี่ยวกับการเจ็บเตือน และการคลอด)

ไปฟังครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่หลังจากคลอดเหมือนทางสำนักงานเขตก็จะมีไปรษณีย์บัตรนัดให้ไปเจอกันกับพวกแม่ ๆ เพราะพอจบการอบรมครั้งนี้ ก็มีไปรษณีย์บัตรเปล่ามาให้เขียนชื่อและที่อยู่ เพื่อจะได้แจ้งกำหนดการมาให้เราได้

เนื้อหาของการอบรมครั้งนี้ ตอนแรกก็จะให้เราดูวีดีโอตอนที่คลอด  โดยจะเน้นให้ดูตอนที่คลอดว่าจะต้องหายใจเข้า หายใจออกยังไง ตอนที่หัวเด็กออกมาแล้วให้ทำยังไง พอดูเสร็จรู้สึกกลัวแล้วก็กังวลขึ้นมาเลย กลัวเจ็บ กังวลว่าเราจะทำแบบนั้นได้หรือเปล่า...

เจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงที่เบ่ง พอสูดลมหายใจเข้าไปแล้ว ตอนที่จะเบ่งออกให้ปิดปาก เพราะถ้าเปิดปากหายใจออกลมเบ่งก็อาจจะผ่อนลงไปด้วย (ถ้าฟังแล้วเข้าใจไม่ผิดนะ ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
แล้วช่วงที่หัวของเด็กเริ่มออกมาแล้ว ไม่ต้องหายใจเข้าแรง ๆ ให้พยายามมองด้านล่าง เพราะช่วงนี้หัวเด็กจะออกมา แล้วก็พยายามอย่าปิดตา เพราะเหมือนถ้าเราปิดตา แรงมันจะขึ้นไปที่ตาด้วย (ถ้าฟังแล้วเข้าใจไม่ผิดนะ ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)

หลังจากที่ดูวีดีโอจบแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะพูดถึงเรื่องของการเจ็บเตือน
ในเอกสารที่ได้รับแจก จะบอกว่าการคลอดจากกำหนดวันคุณหมอบอกล่วงหน้าก่อน 3 อาทิตย์หรือช้ากว่านั้น 2 อาทิตย์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ในการเจ็บเตือนนั้นจะทิ้งช่วงเจ็บท้องประมาณ 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยปวดใหม่ประมาณ 10-15 นาทีสำหรับท้องแรก แต่ถ้าคนที่เคยคลอดมาแล้วจะทิ้งช่วงเจ็บท้องประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงแล้วค่อยปวดใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้ถือเป็นสัญญาณเตรียมคลอด ช่วงนี้ก็อาจจะเช็คของใช้ที่จะต้องนำไปโรงพยาบาลว่าเรียบร้อยดีมั้ย แต่ถ้ามีน้ำไหลออกมาให้รีบติดต่อโรงพยาบาล แล้วลองไปโรงพยาบาลดู ถ้าไม่มีอะไรคุณหมออาจจะให้กลับบ้านไปก่อน
แต่ถ้าเจ็บทุก ๆ 7-10 นาทีในท้องแรก และ 10-15 นาทีสำหรับคนที่เคยคลอด ให้ดูอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าเจ็บรุนแรงขึ้นให้รีบไปโรงพยาบาล

และมีเรื่องนึงที่เราก็เพิ่งรู้จากเจ้าหน้าที่ว่า ตอนที่คลอดนอกจากแม่แล้วที่พยายามเบ่งคลอด เด็กเองก็พยายามที่จะออกมาเหมือนกัน ฟังแบบนี้แล้วก็รู้สึกทั้งแม่และเด็กต่างก็พยายามด้วยกันทั้งคู่เลย ^0^

ปล. หลังจากที่คลอดแล้วอกจะร้อน ๆ ประมาณ 3-4 วัน
ถ้าต้องการจะให้ปากมดลูกเปิดง่ายขึ้นเพื่อเตรียมคลอด ควรที่จะนวดหัวนม อกในอายุครรภ์ที่เดือน 10 (นับแบบญี่ปุ่น) ให้นวดบ่อย ๆ นวดเบา ๆ


เนื้อหาในวันนี้ก็มีประมาณเท่านี้

สิ่งที่นำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน







วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปอบรมคอร์สคุณแม่ของโรงพยาบาลครั้งที่ 2 (อาการผิดปกติในขณะตั้งครรภ์, อาหาร, กายบริหาร)

คอร์สคุณแม่ของโรงพยาบาลครั้งที่ 2 นี้จะสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 6-7 เดือน (นับแบบญี่ปุ่น)
เนื้อหาในครั้งนี้จะพูดถึงเรื่องอาการผิดปกติในขณะตั้งครรภ์  อาหารในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาส 2  อาหารตอนที่ให้นมลูก  และการบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอด


อาการที่ผิดปกติจะเน้นเรื่องการปวดท้อง ถ้าใน 1 วันปวด 2-3 ครั้งก็ถือว่าไม่เป็นไร ให้พัก แต่ถ้าใน 1 ชั่วโมง ปวด 2-3 ครั้งนี่ถือว่าไม่ดีให้ไปโรงพยาบาล


สำหรับในเรื่องอาหารในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้จะเน้นธาตุเหล็ก และแคลเซียม และก็ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้ครบ 3 มื้อ ใน 1 วัน


ส่วนในช่วงให้นมลูก อาหารที่ทำให้เลือดของแม่ไม่ข้นมาก ไหลดี จะมีพวกผัก พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ สาหร่าย สารอาหารที่มี DHA. EPA
และผักนั้นควรที่จะทานในตอนเช้า และกลางวัน ไม่ควรที่จะทานตอนเย็น เพราะจะทำให้ร่างกายเย็น
และก็มีผักที่ทำให้ร่ายกายอุ่น เช่น กระเทียม หอม หัวไช้เท้า ขิง เป็นต้น


และสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการจะควบคุมในเรื่องของอาหาร อยากให้น้ำหนักกลับมาเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่แนะนำให้คิดเรื่องนี้หลังจากที่คลอดไปแล้ว 3 สัปดาห์


สำหรับการบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอดจะคล้าย ๆ ของที่สำนักงานเขตเลย (ตามลิ้งค์)
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/3.html


สิ่งที่เอาไปด้วยในวันนี้
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน
3. เอกสารที่ทางโรงพยาบาลแจกมาในครั้งแรก







วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมแม่ของสำนักงานเขต ครั้งที่ 3 (พูดเกี่ยวกับฟัน และสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น)

ในครั้งที่ 3 นี้จะอบรมช่วงบ่าย ครั้งนี้ครึ่งแรกจะพูดถึงเรื่องการฟัน  ส่วนครึ่งหลังจะเป็นการสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น


เนื้อหาที่พูดถึงในช่วงแรก


ปัญหาเกี่ยวกับฟันที่จะเกิดขึ้นเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์  เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เป็นโรคปริทันต์ (โรคเหงือกอักเสบ) เพิ่มง่ายขึ้น นอกจากสาเหตุที่ว่าแล้ว ช่วงที่แพ้ท้อง หรือช่วงที่การทานอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้การดูแลช่องปากเป็นไปได้ยากขึ้น


ปัญหาเกี่ยวกับฟันที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดและช่วงเลี้ยงลูก  หลังจากที่คลอดลูกแล้ว คงไม่มีเวลาพอที่การดูแลฟันของตัวเอง และคงไม่มีเวลาพอที่จะไปหาหมอฟัน ก็จะทำให้ฟันของแม่นั้นผุได้ง่าย เมื่อฟันของแม่ผุ ก็จะส่งผลไปถึงลูกด้วย


ซึ่งจริงๆ แล้ว การดูแลฟันของแม่เป็นยังไงตั้งแต่ตั้งท้อง ก็มีผลต่อฟันของลูกตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์แล้ว เพราะฟันของทารกในครรภ์เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ตอนที่อายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ ดังนั้นคุณแม่จะต้องดูแลฟันของตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง หลังอาหารและก่อนนอนควรแปรงฟัน  ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  ในการทานอาหารควรที่จะค่อย ๆ เคี้ยว


ฟันของเด็กจะขึ้นเมื่อไหร่นั้น ไม่ต้องสนใจว่าขึ้นช้าหรือเร็ว เพราะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย แต่ถ้าฟันขึ้นช้ามากให้ไปปรึกษาแพทย์




หลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้ว ช่วงที่ทำให้ฟันผุถ่ายทอดไปยังเด็กได้ง่ายก็คือช่วงที่เด็กอายุ 19 เดือน - 31 เดือน อย่างตอนที่เราจะป้อนอาหารให้เด็ก หรือก่อนที่จะให้เด็กทานอะไร พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงก็อาจจะเอาเข้าปากของตัวเองก่อน เป่าให้หายร้อน แล้วค่อยให้เด็กทาน  ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้แหละ จะเป็นการถ่ายทอดฟันผุของคน ๆ นั้น ให้กับเด็ก


สารอาหารที่จำเป็นต่อฟันจะมี โปรตีน วิตามิน A,C,D  แคลเซียม


การดูแลฟันของเด็กตั้งแต่ที่เริ่มมีฟัน - 1 ขวบครึ่ง ก็คือการแปรงฟันให้เด็กโดยเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กอ่อน และพออายุครบ 1.5 ขวบแล้วก็พาไปตรวจฟัน


เนื้อหาที่พูดถึงในช่วงหลัง จะเป็นการสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น
ที่ญี่ปุ่นจะเน้นให้คลอดเอง จะไม่นิยมผ่าคลอด นอกจากกรณีพิเศษจริง ๆ เพราะฉะนั้นท่าที่สอนในวันนี้จะเป็นท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น
ท่าขัดสมาธิ


 ท่าตั้งเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง แล้วยกก้นขึ้นแล้วลง




ท่ายกเข่าทั้ง 2 ขี้น แล้วก็เอียงวางกับพื้นข้างละ 5 - 10 ครั้ง พอทำเสร็จด้านนึง ก็ให้ทำแบบเดียวกันอีกด้านหนึ่ง


 ท่ายกเข่าข้างใดข้างหนึ่งขึ้น แล้ววางราบกับพื้นประมาณ 5 - 10 ครั้ง พอทำเสร็จด้านนึง ก็ให้ทำแบบเดียวกันอีกด้านหนึ่ง





ท่าแมว (รูปกลับด้านไปหน่อย) สูดหายใจเข้าแล้วก้มหน้า ให้หลังโก่ง ๆ แล้วก็เงยหน้าขึ้นพร้อมกับปล่อยลมหายใจออก ประมาณ 10 ครั้ง






ท่านอนที่ช่วยให้ผ่อนคลาย (รูปกลับหัวไปหน่อย) แล้วแต่ว่าคุณแม่ตะแคงนอนด้านไหนแล้วทำให้รู้สึกดี ก็นอนด้านนั้น



เนื้อหาวันนี้ก็ประมาณนี้ค่ะ

สิ่งที่ต้องนำไปในวันอบรม
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน










วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของสำนักงานเขตครั้งที่ 2 (พูดเรื่องอาหารที่ควรทานใน 1 วัน)

ครั้งที่ 2 ก็ยังคงนั่งเป็นกลุ่ม ๆ แต่ไม่ค่อยให้พูดเหมือนครั้งที่แล้ว ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพูดถึงเรื่องของปริมาณอาหารที่จำเป็นในช่วงของการตั้งครรภ์ เอกสารที่ได้รับมาในครั้งนี้เยอะมาก จะบอกถึงว่าใน 1 วัน ควรทานอะไร ปริมาณกี่กรัม ถ้าทำได้อย่างที่เอกสารเขียนเราว่าก็ดีอ่ะนะ แต่เราคงทำไม่ได้แหง ๆ เลยคงเอาไว้มาดูอ้างอิงแล้วกัน
เริ่มจากการคำนวณหาพลังงาน (กิโลแคลอรี่) ปริมาณอาหารใน 1 วันที่จำเป็นต่อตัวเรา โดยวิธีคำนวณก็คือ
ขั้นตอนที่ 1  เอา ส่วนสูง (เมตร) * ส่วนสูง (เมตร) * 22  = น้ำหนักมาตรฐานของเรา


ขั้นตอนที่ 2  ให้นำน้ำหนักมาตรฐานของเรา * ค่ามาตรฐาน * ค่าระดับกิจกรรมประจำวัน = ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์
หมายเหตุของขั้นตอนที่ 2 ค่ามาตรฐาน ดูได้จาก ถ้าอายุ 18-29 ปี จะใช้ตัวเลข 22.1 มาคำนวณ,  แต่ถ้าอายุ 30-49 ปี จะใช้ตัวเลข 21.7 มาคำนวณ
ส่วนค่าระดับกิจกรรมประจำวัน ดูได้จาก ถ้ากิจกรรมประวันเป็นแม่บ้าน ทั้งวันจะนั่งเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ตัวเลข 1.3 มาคำนวณ
ถ้ากิจกรรมประจำวันมีเดินบ้าง ทำงาน ยืน ๆ จะใช้ตัวเลข 1.5 มาคำนวณ
และถ้ากิจกรรมประจำวัน ทั้งวันจะยืนเป็นส่วนใหญ่ ใน 1 ชั่วโมงทำงานหนัก จะใช้ตัวเลข 1.7 มาคำนวณ


ขั้นตอนที่ 3 ถ้าช่วงตั้งครรภ์ ให้นำปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ มาบวกกับตัวเลขต่อไปนี้ตามช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก ให้บวกเพิ่ม 50 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง ให้บวกเพิ่ม 250 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม ให้บวกเพิ่ม 450 กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก ให้บวกเพิ่ม 350 กิโลแคลอรี่


ตัวอย่างสมมุติว่าเราสูง 1.63 เมตร อายุ 30 ปี เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่จะนั่ง  ถ้าคำนวณตามข้างบนจะได้
ขั้นตอนที่ 1  =>   1.63 * 1.63 * 22 = 58.45
ขั้นตอนที่ 2  =>   58.45 * 21.7 * 1.3 =  1,648.87 กิโลแคลอรี่ ซึ่งจะเป็นปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก่อนตั้งครรภ์
ขั้นตอนที่ 3 => ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก 1,648.87+ 50 กิโลแคลอรี่  = 1,698.87 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง  1,648.87 + 250 กิโลแคลอรี่ =  1,898.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม  1,648.87 + 450 กิโลแคลอรี่ =  2,098.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก  1,648.87 +  350 กิโลแคลอรี่ = 1,998.87  กิโลแคลอรี่


จากวิธีคำนวณที่ว่ามา จริง ๆ เราก็ไม่ได้ดูละเอียดมากขนาดนี้ เพียงแต่รู้แค่เพียงว่า ที่ญี่ปุ่นเขาดูกันเป็นกรัม ๆ เป็นกิโลแคลอรี่กันเลย สุดยอดมาก ๆ
มิน่าถึงไม่ค่อยมีคุณแม่คนไหนที่อ้วนเลย (เท่าที่เห็นนะ)


ส่วนเรื่องน้ำหนักว่าควรขึ้นเท่าไหร่ ก็มีให้คำนวณด้วยนะ
คือเราจะต้องรู้ค่า BMI ของเราก่อน ซึ่งคำนวณได้จาก น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์  (กิโล) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) แล้วหารด้วยส่วนสูง (เมตร)
ยกตัวอย่าง น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์เรา 56 กิโล ส่วนสูง 1.63 เมตร
ค่า BMI = 56/1.63/1.63 = 21.077
ซึ่งถ้าค่า BMI อยู่ในช่วง 18.5 - 24.9 ถือว่าปกติ น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 7-12 กิโล
ถ้าค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไป ถือว่าอ้วน น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์ควรประมาณ 5  กิโล
ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5  ถือว่าผอม น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 9-12 กิโล
และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ลดให้เหลือเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์หลังจากที่คลอดแล้วประมาณ 6 เดือน


ก็คงเป็นเกร็ดความรู้ใหม่สำหรับเรา แต่เราจะทำได้ตามหรือเปล่านี่อีกเรื่องนึง 555


สิ่งที่ต้องนำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน

















วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังอบรมคอร์สคุณแม่ของทางสำนักงานเขต ครั้งที่ 1 (รกในครรภ์)

ที่สำนักงานเขตเขาก็มีอบรมคอร์สคุณแม่ฟรีเหมือนกัน มีทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งก็ต้องโทรไปจองคอร์สเหมือนกัน
เขาจะจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งก็คือจะให้มีการคุยกันในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรื่องของตัวเอง ฟังเรื่องของคนอื่น แล้วก็พูดให้กลุ่มอื่นฟังว่าเรื่องของคนกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง เราเป็นคนต่างชาติคนเดียวในนั้น รู้สึกแปลก ๆ แต่ก็ถือว่ามาฟังเพื่อประโยชน์ของตัวเองอ่ะนะ
แล้วก็จากที่เราเป็นคนต่างชาติ ก็โชคดีไปที่ไม่ต้องเขียนสรุป แล้วก็ไม่ต้องเป็นตัวแทนพูดของกลุ่ม อิอิ
อย่างครั้งแรกนี้จะให้แนะนำตัวเอง บอกถึงเรื่องที่เราลำบากตอนท้องให้กับแม่ ๆ ในกลุ่มฟัง  แล้วเราก็ฟังแม่ ๆ ในกลุ่มพูดว่าลำบากอะไร ส่วนใหญ่จะก็เป็นเรื่องของการแพ้ท้อง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะพูดเรื่อง "รกในครรภ์" ว่า
1.ทารกจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดของแม่ และทิ้งคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอย่างยูเรียโดยผ่านทางรก พูดง่าย ๆ ก็คือรกจะเป็นตัวฟิวเตอร์นั้นเอง เพราะของเสียที่ว่าจะส่งกลับไปที่เลือดของแม่โดยผ่านรก และท้ายสุดไตของแม่จะก็เป็นผู้จัดการ
2. รกจะไม่นำของเสียที่มีอยู่ในเลือดของแม่ไปสู่ทารก ยกเว้นแต่แอลกอฮอล์กับสารนิโคติน ทั้ง 2 ตัวนี้จะผ่านรกเข้าสู่ทารกได้


ครั้งที่ 1 ของทางสำนักงานเขตก็จะพูดประมาณเท่านี้


และสิ่งที่จะต้องนำไปด้วยก็มี
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก เพราะจะมีปั้มวันที่ที่เข้าอบรมลงในสมุดด้วย
2. อุปกรณ์การเขียน






วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังอบรมคอร์สคุณแม่ของทางโรงพยาบาล ครั้งที่ 1 (การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และการดูแลทารกในครรภ์)

ทางโรงพยาบาลที่เราไปฝากครรภ์ เขามีคอร์สอบรมคุณแม่ฟรี แต่จะต้องลงทะเบียนก่อน เพื่อที่ว่าจะได้เตรียมเอกสารหรืออะไรให้เพียงพอ
ในการอบรมครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง  ชั่วโมงแรกจะเป็นคุณหมอที่ตรวจเรามาบรรยาย เอกสารที่ใช้จะเป็นของโรงพยาบาล ซึ่งในเอกสารก็จะเขียนตั้งแต่ปฏิทินการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับตอนที่ตั้งครรภ์ ความผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ ฯ ไปจนถึงการเปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำให้ลูก พูดง่าย ๆ ก็คือ เนื้อหาตั้งแต่ตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ หลังการคลอด ในครั้งแรกนี้คุณหมอก็พูดเรื่องที่ควรระวังหลังจากที่ผ่านช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว  ซึ่งเราก็เก็บข้อมูลมาได้ตามนี้


เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับตอนที่ตั้งครรภ์
1. จะมีในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
2. เรื่องการเปลี่ยนแปลงกับผิวอย่างที่รักแร้ ที่แขน ที่หน้า คุณหมอแนะนำให้ทาครีมกันแดดที่ค่า SPF ไม่เยอะที่หน้าและที่แขน เพราะถ้าเกิดเป็นฝ้าแล้วจะรักษาหายยาก  ส่วนเส้นตรงที่ขึ้นตรงกลางท้องนั้นจะหายไปเองภายใน 2-3 เดือนหลังจากคลอด
3. การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก ควรจะอยู่ที่บวกลบ 10 กิโล หรือถ้าอย่างมากที่สุดก็ 15 กิโล
4. ท้องผูก


เรื่องการดูแลทารกในครรภ์
ควรมีการกดท้องเช็คดูว่าท้องแข็งหรือเปล่า กดได้หรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องดูว่าปวดท้องหรือเปล่า เพราะอาจจะไม่ปวดแต่ท้องแข็ง  ซึ่งกรณีแบบนี้ควรจะต้องมาให้คุณหมอตรวจดู เพราะถ้าปล่อยไว้อาจจะไม่ดีต่อเด็กได้


เรื่องการใช้ชีวิตในช่วงตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 28 - 29 ถ้าคุณหมอไม่ได้พูดอะไรก็ให้เคลื่อนไหวทำงานบ้านได้ตามปกติ แต่ถ้าคุณหมอมีการพูดอะไรก็ให้พยายามอย่าเคลื่อนไหว เพราะช่วงนั้นปากมดลูกเริ่มจะเปิดแล้ว




ส่วนช่วงที่ 2 ก็จะเป็นคุณหมอคนอื่นมาบรรยาย ช่วงนี้ก็จะพูดเกี่ยวกับอาหารในช่วงที่ตั้งครรภ์
ที่สำคัญ ๆ หลัก ๆ ก็คือ
1. ทานอาหารให้สมดุลย์กัน ไม่เน้นอะไรที่มากเกินไป 3 มื้อใน 1 วัน
2. ในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์ ควรจะลดอาหารรสเค็ม
3. ในการจะรักษาน้ำหนักให้เป็นไปอย่างเหมาะสมให้ทานพวกไขมัน น้ำตาลในปริมาณที่พอดี
4. ในการป้องกันโลหิตจาง และการช่วยสร้างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ควรทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมอย่างเพียงพอ
5. ให้เลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์
6. ให้รักษาอาการท้องเสีย หรือท้องผูกโดยเร็ว อย่างน้อยควรให้มีการถ่าย 1 ครั้งใน 1 วัน และออกกำลังกายพอเหมาะ


การอบรมในแต่ละครั้ง สิ่งที่ต้องนำไปด้วยก็จะมี
1. สมุดแม่และเด็ก เพราะทางโรงพยาบาลจะปั้มวันที่ที่เข้าฟังลงในสมุดด้วย
2. อุปกรณ์เครื่องเขียน