วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของโรงพยาบาล ครั้งที่ 3 (เกี่ยวกับการคลอด, เตรียมของเข้าโรงพยาบาล, ชมห้องคลอด)

วันนี้มีอบรมคอร์สคุณแม่ของทางโรงพยาบาลครั้งที่ 3 จริง ๆ เราตั้งใจจะจองเข้าอบรมในเดือนที่แล้วแล้ว แต่ว่าของเดือนที่แล้วเต็ม ก็เลยมาของเดือนนี้ มาของเดือนนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะยังจำได้อยู่ว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเกิดเจ็บท้องคลอดขึ้นมา

พอถึงเวลาพยาบาลก็มาเปิดวีดีโอให้ดู วีดีโอนี้เหมือนของที่สำนักงานเขตเข้าเคยเปิดให้ดูเลย คือให้ดูว่าคลอดธรรมชาติคลอดยังไง หายใจแบบไหน ตอนที่หัวของทารกออกมาแล้วต้องหายใจยังไง ดูแล้วนึกถึงตอนของตัวเองว่าจะเป็นยังไง เสียว >< คงเจ็บน่าดู

พอดูเสร็จแล้ว พยาบาลก็จะพูดถึงว่า ถ้าเจ็บท้องขึ้นมาแล้ว ควรจะเข้าโรงพยาบาลตอนไหน ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะแบบนี้คือสัญญาณที่ว่าใกล้จะคลอดแล้ว คือ
1. ในบางครั้งท้องจะเริ่มแข็ง
2. รู้สึกว่ามดลูกอยู่ต่ำลง
3. การดิ้นของทารกจะช้าลง
4. ปวดเอวปวดสะโพก
5. ปัสสาวะบ่อย
6. เจ็บท้องเตือน (คือปวดท้องแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน โดยปกติจะเริ่มมีอาการปวดตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 35 ไปแล้ว) ซึ่งถ้าเจ็บท้องเตือนแล้ว  พยาบาลแนะนำว่าให้จดเวลาเอาไว้ การบีบตัวของมดลูกในช่วงนี้จะมากกว่า 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง หรือมากกว่า 1 ครั้งในทุก ๆ 10 นาที ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แล้วนั่นก็หมายความว่าเป็นการเริ่มต้นของการคลอด
7. เจ็บท้องคลอด
8. จะมีเลือดออกมาเล็กน้อย  แบบเหนียว ๆ มาพร้อมกับตกขาว (ซึ่งก็คือสัญญาณเตือน)
9. น้ำคร่ำเดิน  จะเป็นลักษณะเดี๋ยวไหลเดี๋ยวหยุด กลิ่นจะออกเปรี้ยว ๆ ซึ่งถ้ามีน้ำคร่ำเดินแล้ว ให้ใส่ผ้าอนามัยแล้วโทรไปที่โรงพยาบาลก่อน แล้วเดินทางไปโรงพยาบาล

หมายเหตุ บางคนอาจจะมีน้ำคร่ำเดินก่อนที่จะเจ็บท้องคลอดก็ได้ ให้รีบไปโรงพยาบาล

ลำดับการคลอดจะมีด้วยกันอยู่ 3 ช่วงคือ
การคลอดระยะที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่เจ็บท้องคลอด จนถึงปากมดลูกเปิดเต็มที่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับคนที่คลอดเป็นครั้งแรก ระยะที่ 1 นี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 10 - 12 ชั่วโมง  สำหรับคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว ระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 5 - 6 ชั่วโมง

การคลอดระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว จนถึงทารกคลอดออกมา สำหรับคนที่คลอดเป็นครั้งแรก ระยะที่ 2 นี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 1 - 2 ชั่วโมง สำหรับคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว ระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 30 นาที
ในช่วงที่หัวทารกออกมาแล้ว ให้หายใจแบบผ่อนคลาย ช้า ๆ

การคลอดระยะที่ 3 จะเป็นคลอดรกออกมา ซึ่งจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 5 - 15 นาที

เจ้าหน้าที่ก็มีพูดถึงวิธีการหายใจในตอนคลอดด้วย แต่ ณ เวลานั้นแต่ละคนคงตื่น ๆ ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งทางที่ดีที่สุดให้ฟังที่พยาบาลบอกว่า ตอนไหนให้หายใจเข้า ตอนไหนให้หายใจออก

ในการอบรมครั้งนี้ มีให้แนะนำตัวเองด้วย ให้บอกว่าชื่ออะไร กำหนดการคลอดเมื่อไหร่ ถ้ารวมเราด้วยแล้ว จะมีคนต่างชาติอยู่ 4 คน คือเรา (ไทย) คนจีน คนกัมพูชา แล้วอีกคนไม่รู้ชาติอะไรเพราะเขาไม่ได้บอกมา  ดีใจเหมือนกันที่มีคนต่างชาติมาคลอดที่นี่ จะได้มีเพื่อน

จากนั้นก็พูดถึงเรื่องประเภทการคลอด ซึ่งเราเคยเขียนไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนี้
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/06/birth-plan.html
ซึ่งเราเลือกคลอดแบบธรรมชาติแล้วก็ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย ซึ่งใครที่ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย ก็จะมีการอบรมในเรื่องนี้อีกครั้งนึงในสัปดาห์หน้า ครั้งนี้คุณซูก็จะเข้าอบรมด้วย


ต่อมาก็พูดถึงเรื่องของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ตอนที่เข้าโรงพยาบาล โดยพยาบาลโชว์ถุงใหญ่มากให้ดู แล้วก็โชว์ของที่อยู่ในถุง ซึ่งเราก็เคยเขียนไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนี้
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/blog-post_27.html

ก็คือที่เราจะเตรียมไปก็จะมีสมุดสุขภาพแม่และเด็ก บัตรประกันสุขภาพ บัตรต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง  อิงคัง  เอกสารพวกใบเสร็จตอนที่จ่าย 1 แสนเยนเมื่อเดือนก่อน ๆ  ชุดชั้นใน (เพราะของที่โรงพยาบาลเตรียมให้คงไม่พอ)    เสื้อใส่ตอนออกจากโรงพยาบาล

ในช่วงที่อยู่โรงพยาบาล จะไม่ให้แต่งหน้า น่าจะรวมถึงไม่ให้ทาโลชั่นด้วยมั้งนะ
ส่วนของเด็กในตอนที่ออกจากโรงพยาบาล ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรไปเหมือนกัน เพราะทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดตอนออกจากโรงพยาบาล ผ้าห่อตัวเด็ก แต่ถ้าใครจะมีชุดพิเศษสำหรับลูกจะไม่ใช้ชุดของทางโรงพยาบาล ก็สามารถแจ้งได้

สุดท้ายก็ให้ชมห้องคลอด ห้องพักฟื้น
ห้องที่เราเลือกจะเป็นห้องส่วนตัว ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ลักษณะของห้องก็จะมีเตียง โซฟา ห้องน้ำ อ่างล้างหน้า ลืมดูว่ามีพวกทีวี ตู้เย็นหรือเปล่า ส่วนที่อาบน้ำก็จะเป็นที่อาบรวม แยกออกไป

ส่วนห้องแบบที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็คล้าย ๆ ของที่เราเลือกแต่จะเพิ่มห้องอาบน้ำ อ่างล้างหน้าใหญ่ขึ้น ห้องกว้างขึ้น

นี่ก็ใกล้แล้วเนอะ พยาบาลบอกว่าอายุครรภ์ที่สามารถคลอดได้แบบไม่มีปัญหาก็คืออยู่ที่ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึงที่ประมาณ 41 สัปดาห์ ก็ขอให้คลอดตามกำหนดเถิดนะ เพี้ยง















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น