วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมแม่ของสำนักงานเขต ครั้งที่ 4 (พูดเกี่ยวกับการเจ็บเตือน และการคลอด)

ไปฟังครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่หลังจากคลอดเหมือนทางสำนักงานเขตก็จะมีไปรษณีย์บัตรนัดให้ไปเจอกันกับพวกแม่ ๆ เพราะพอจบการอบรมครั้งนี้ ก็มีไปรษณีย์บัตรเปล่ามาให้เขียนชื่อและที่อยู่ เพื่อจะได้แจ้งกำหนดการมาให้เราได้

เนื้อหาของการอบรมครั้งนี้ ตอนแรกก็จะให้เราดูวีดีโอตอนที่คลอด  โดยจะเน้นให้ดูตอนที่คลอดว่าจะต้องหายใจเข้า หายใจออกยังไง ตอนที่หัวเด็กออกมาแล้วให้ทำยังไง พอดูเสร็จรู้สึกกลัวแล้วก็กังวลขึ้นมาเลย กลัวเจ็บ กังวลว่าเราจะทำแบบนั้นได้หรือเปล่า...

เจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงที่เบ่ง พอสูดลมหายใจเข้าไปแล้ว ตอนที่จะเบ่งออกให้ปิดปาก เพราะถ้าเปิดปากหายใจออกลมเบ่งก็อาจจะผ่อนลงไปด้วย (ถ้าฟังแล้วเข้าใจไม่ผิดนะ ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
แล้วช่วงที่หัวของเด็กเริ่มออกมาแล้ว ไม่ต้องหายใจเข้าแรง ๆ ให้พยายามมองด้านล่าง เพราะช่วงนี้หัวเด็กจะออกมา แล้วก็พยายามอย่าปิดตา เพราะเหมือนถ้าเราปิดตา แรงมันจะขึ้นไปที่ตาด้วย (ถ้าฟังแล้วเข้าใจไม่ผิดนะ ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)

หลังจากที่ดูวีดีโอจบแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะพูดถึงเรื่องของการเจ็บเตือน
ในเอกสารที่ได้รับแจก จะบอกว่าการคลอดจากกำหนดวันคุณหมอบอกล่วงหน้าก่อน 3 อาทิตย์หรือช้ากว่านั้น 2 อาทิตย์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ในการเจ็บเตือนนั้นจะทิ้งช่วงเจ็บท้องประมาณ 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยปวดใหม่ประมาณ 10-15 นาทีสำหรับท้องแรก แต่ถ้าคนที่เคยคลอดมาแล้วจะทิ้งช่วงเจ็บท้องประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงแล้วค่อยปวดใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้ถือเป็นสัญญาณเตรียมคลอด ช่วงนี้ก็อาจจะเช็คของใช้ที่จะต้องนำไปโรงพยาบาลว่าเรียบร้อยดีมั้ย แต่ถ้ามีน้ำไหลออกมาให้รีบติดต่อโรงพยาบาล แล้วลองไปโรงพยาบาลดู ถ้าไม่มีอะไรคุณหมออาจจะให้กลับบ้านไปก่อน
แต่ถ้าเจ็บทุก ๆ 7-10 นาทีในท้องแรก และ 10-15 นาทีสำหรับคนที่เคยคลอด ให้ดูอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าเจ็บรุนแรงขึ้นให้รีบไปโรงพยาบาล

และมีเรื่องนึงที่เราก็เพิ่งรู้จากเจ้าหน้าที่ว่า ตอนที่คลอดนอกจากแม่แล้วที่พยายามเบ่งคลอด เด็กเองก็พยายามที่จะออกมาเหมือนกัน ฟังแบบนี้แล้วก็รู้สึกทั้งแม่และเด็กต่างก็พยายามด้วยกันทั้งคู่เลย ^0^

ปล. หลังจากที่คลอดแล้วอกจะร้อน ๆ ประมาณ 3-4 วัน
ถ้าต้องการจะให้ปากมดลูกเปิดง่ายขึ้นเพื่อเตรียมคลอด ควรที่จะนวดหัวนม อกในอายุครรภ์ที่เดือน 10 (นับแบบญี่ปุ่น) ให้นวดบ่อย ๆ นวดเบา ๆ


เนื้อหาในวันนี้ก็มีประมาณเท่านี้

สิ่งที่นำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น