วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ได้รับคูปองตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรีจาก Health Center ของสำนักงานเขต (保健センターから子宮頚がん検診の無料クーポン券が届いた)

เราได้รับจม. จาก Health Center ของสำนักงานเขต ตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. ล่ะ แต่ยังไม่ได้มาดูรายละเอียดว่าเป็นอะไร ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นจม. แจ้งเกี่ยวกับเรื่องการอบรมคอร์สคุณแม่ซะอีก

มาดูอีกทีข้างในซองก็มีคูปองให้ไปตรวจมะเร็งปากมดลูกฟรี 1 ครั้ง ประจำปี 2557
สำหรับคนที่ไปตรวจแล้วก่อนหน้าที่จะได้รับคูปองนี้  ในจม. บอกว่าจะไม่สามารถใช้คูปองฟรีนี้ไปตรวจซ้ำได้  ค่าใช้จ่ายในการตรวจที่จ่ายไปแล้ว ให้ติดต่อสอบถามกับทาง Health Center ดู อาจจะได้คืนมั้งนะ เราว่า

หน้าตาของจม. ส่วนนึงจะประมาณนี้


การตรวจจะมีแบบตรวจเดี่ยว กับตรวจเป็นกลุ่ม แล้วแต่เราจะเลือก สำหรับคนที่จะตรวจเดี่ยว เขาก็ให้เราติดต่อกับโรงพยาบาลที่ระบุมาโดยตรง และในวันตรวจก็จะต้องนำ
1. คูปองตรวจฟรี
2. บัตรประกันสุขภาพ
3. สมุดสุขภาพ (สำหรับคนที่มี)
ไปด้วย เพราะถ้าใครลืมไม่ได้นำไป จะไม่ได้รับการตรวจ
และสำหรับการตรวจเดี่ยวนี้ ถ้าคุณหมอเขาพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องตรวจมะเร็งมดลูก ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเจ้าตัวจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง
และผลการตรวจให้ติดต่อกับทางโรงพยาบาลที่ไปตรวจเอง เพราะทางสำงานเขตจะไม่ได้เป็นผู้แจ้งผลการตรวจ

ส่วนถ้าจะตรวจเป็นกลุ่มจะตรวจที่  Health Center  ตามวันและเวลาที่เขากำหนด แล้วก็ต้องโทรไปจองล่วงหน้าก่อนด้วย เพราะเขาจะรับจำนวนจำกัด

ปีที่แล้วที่เราเพิ่งมาอยู่ที่ญี่ปุ่น ยังไม่ได้รับจดหมายแบบนี้  แต่ปีนี้ถึงได้รับคงต้องดูก่อนว่าจะไปตรวจดีหรือเปล่า เพราะนี่ก็มีจดหมายให้ไปตรวจสุขภาพของทางบริษัทคุณซูส่งมาให้ที่บ้านแล้ว
เราเคยไปตรวจของบริษัทคุณซูเมื่อปีที่แล้วมา มีตรวจอะไรบ้าง ตามรายละเอียดนี้เลย

http://jipathajapan.blogspot.jp/2013/09/blog-post_30.html

ที่ญี่ปุ่นนี่ใส่ใจกับเรื่องสุขภาพเนอะ ดีเหมือนกัน ^^



 




วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประกอบเตียงให้เจ้าหนูแล้ว

วันนี้คุณซูประกอบเตียงเจ้าหนูให้แล้ว เอามาผึ่งลมก่อนใช้จริง  ^0^
ตอนกางออกมา จริง ๆ ไม่ค่อยยากเท่าไหร่ แต่ด้วยความที่ว่าเรายังไม่ชินกับการใช้งานมั้ง เล่นเอาคุณซูเหงื่อตกเลย
ตอนกางจะต้องดึงด้านทั้ง 4 ด้านให้ตึง  ๆ ให้เข้าล็อคของมัน มันจะมีเสียงแก๊ก แล้วก็ดันส่วนพื้นที่มีเชือกสีแดงที่อยู่ตรงกลางลงไป ก็จะได้เป็นตัวเตียง
ส่วนแผ่นที่หุ้มโครงเตียง จะเป็นตัวเบาะ ก็เอามาใส่ในตัวโครง มันจะมีที่ให้แขวนขึงอยู่ 4 มุม (เราก็ไม่ได้ถ่ายรูปตอนนั้นมาซะด้วย)

แล้วก็เอาฟูกที่ซื้อแยกต่างหากมาปู ไซส์พอดีกันเลย ^^

ด้านที่อยู่ใกล้ ๆ กับเตียงนอนเรา สามารถเอาลงได้ระดับหนึ่ง เพื่อสะดวกในการอุ้มเด็กมากขึ้น




 แล้วก็เลยเอาเป้อุ้มเด็กกับของเล่นมาผึ่งลมด้วยเลย ^^



วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ของเล่น 2 ชิ้นแรกของเจ้าหนู (กริ้ง ๆ อันปัง, โมบายติดเตียง)

หลังจากที่ไปฟังคอร์สอบรมเสร็จ ก็ไปหาซื้อของเล่นสำหรับเจ้าหนู ของเล่นที่นี่มีขายเยอะมาก จนไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรให้ดี ซื้อเยอะก็เปลืองเงินโดยใช่เหตุ เพราะถ้าเจ้าหนูไม่เล่นขึ้นมา เท่ากับว่าเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ สรุปก็เลยได้ 2 ชิ้นนี้มา แล้วก็คิดว่า 2 ชิ้นนี้คงให้เจ้าหนูเล่นยาวเลย แล้วค่อยไปดูของเล่นชิ้นใหม่ให้ ^0^

ชิ้นนี้ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 905 เยน



ส่วนชิ้นนี้สามารถหนีบกับเตียงเด็กได้ แล้วก็สามารถตั้งวางกับพื้นได้ ซื้อที่ Toysrus ราคา 7,428 เยน
ชิ้นนี้กว่าจะซื้อได้ ลังเลอยู่นาน เพราะราคานี่แหล่ะ คุณซูให้ลองถามแม่ ๆ ที่มีประสบการณ์ดูว่าเป็นยังไง  พี่ ๆ น้อง ๆ ก็แนะนำบอกว่าเด็กชอบ ฟังเพลงเพลิน เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด ก็เลยซื้อเลย แล้วชิ้นต่อไปคงอีกนานนะเจ้าหนู 555


ไปฟังคอร์สอบรมพ่อแม่ของทางโรงพยาบาล เรื่องกรณีที่สามีเข้าห้องคลอดด้วย

เราก็ไม่รู้ว่าที่เมืองไทย เวลาที่ภรรยาคลอด แล้วสามีต้องการเข้าไปในห้องคลอดด้วย จะต้องมาฟังการอบรมหรือเปล่า แต่ที่โรงพยาบาลนี้เขาให้พาสามีมาฟังด้วย เพื่อที่ว่าสามีจะได้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างในตอนนั้น

เมื่อถึงเวลาอบรม พยาบาลก็มาเปิดวีดีโอให้ดู จะเป็นเรื่องบทบาทของคุณพ่อที่มีต่อทารก ซึ่งคุณแม่หลายคนก็คงรู้อยู่แล้วว่าตอนที่ทารกอยู่ในท้องก็จะได้ยินเสียงจากภายนอก ซึ่งถ้าคุณพ่อมาพูดคุยกับทารกตอนที่ยังอยู่ในท้องด้วย ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์กันมากขึ้น เมื่อทารกคลอดออกมาก็จะคุ้นเคยกับเสียงของพ่อแม่ที่คอยพูดคุยกับเขาเมื่อตอนที่เขายังอยู่ในท้อง ในวีดีโอที่เราดูจะสื่อประมาณว่า บทบาทของแม่ก็คือเป็นที่พักพิง ให้ความอบอุ่น ในเวลาที่แม่อุ้มกอด ทารกจะรู้สึกถึงความปลอดภัย ไร้ความกังวล ในขณะที่บทบาทของพ่อนั้นจะเป็นคล้าย ๆ ผู้ที่มาให้ความบันเทิง มาเล่นด้วย อยู่ด้วยแล้วสนุก

พอดูวีดีโอจบ พยาบาลก็ให้สามีแต่ละคู่แนะนำตนเอง แล้วก็กำหนดคลอดลูกวันที่เท่าไหร่ ท้องนี้เป็นลูกคนที่เท่าไหร่ คุณซูพูดรัวเชียว คงเขิน ๆ + ตื่นเต้นมั้ง อิอิ

ในวันนี้เสียดายที่พยาบาลพาไปดูห้องพักหลังจากคลอดไม่ได้ เพราะมีคนที่จะคลอดในวันนี้พอดี คุณซูเลยอดดูเลย ว่าห้องเป็นยังไง แต่จริง ๆ เราก็อธิบายให้คุณซูฟังแล้วหล่ะ ว่าห้องเป็นแบบนี้ ๆ

หน้าที่ของสามีในห้องคลอดของโรงพยาบาลนี้ก็คือ ตอนที่ภรรยาเจ็บท้องคลอด จะให้ช่วยนวดหลัง เพื่อจะได้ทำให้รู้สึกดีขึ้น เวลาที่เบ่งคลอด โดยปกติผู้หญิงจะเงยหน้าขึ้น แต่จะให้สามีคอยจับหัวให้ลง แล้วคอยพูดให้กำลังใจ ป้อนน้ำ ประมาณว่าเป็นผู้ช่วยพยาบาลอีกทีนึง  แล้วหลังจากที่คลอดเสร็จ ก็จะมีเวลาให้ถ่ายรูปประมาณ 5 นาที แต่ห้ามมือถือ เพราะเกี่ยวกับเรื่องสัญญาณ เพราะสัญญาณมือถืออาจจะส่งผลกับเครื่องที่ใช้ภายในห้อง ก็เลยให้แต่กล้องดิจิตอล หรือกล้องวีดีโอ

ไม่รู้ว่าพอถึงเวลานั้นจริง ๆ จะเป็นยังไงเนอะ


วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เอกสารที่เจ้าหน้าที่ให้เซ็นตอนตรวจครรภ์ครั้งที่ 13

ก่อนหน้าที่จะจ่ายเงิน เจ้าหน้าที่ก็มีเอกสารมาให้เราเขียนแล้วก็เซ็นชื่อ เอกสารที่ว่าจะมี 2 ฉบับ ซึ่งฉบับแรกเจ้าหน้าที่อธิบายว่า ค่าคลอดจะอยู่ที่ 420,000 เยน (ก่อนหน้านี้จ่ายค่ามัดจำไป 100,000 เยน เท่ากับว่าค่าคลอดของที่โรงพยาบาลนี้จะอยู่ที่ประมาณบวกลบ 520,000 เยน) โดยจะให้ทางบัตรประกันสุขภาพที่เราถืออยู่ (เป็นบัตรแบบครอบครัวซึ่งเป็นของบริษัทคุณซู) โอนเข้าบัญชีของโรงพยาบาลโดยตรงเลย 
เราก็เลยถามคุณซูว่าแล้วเราต้องไปยื่นขอเบิกกับสำนักงานเขตหรือเปล่า เพราะเคยอ่านเจอของคนอื่น ๆ เขาจะออกไปก่อน แล้วไปยื่นขอคืนกับทางสำนักงานเขต คุณซูก็บอกว่าในกรณีของเราไม่ต้องออกไปก่อน แล้วก็ไม่ต้องไปยื่นขอคืนกับทางสำนักงานเขตในตอนหลังด้วย เพราะเป็นการจ่ายโดยตรงระหว่างบัตรประกันสุขภาพกับโรงพยาบาล 
เราก็งง ๆ กับระบบเหมือนกัน แต่การที่โรงพยาบาลเป็นคนดำเนินเรื่องให้ก็สะดวกไปอีกแบบนึง

ต่อมาก็ให้เซ็นอีกฉบับ จะเป็นเอกสารยินยอมให้ตรวจ "ความผิดปกติแต่กำเนิดของกระบวนการสร้างและสลาย" ก็คือ พอเด็กคลอดออกมาแล้วจะทำการตรวจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ จะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ 
จะทำการตรวจโดยการเจาะเลือดของเด็กหลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้วในช่วงของวันที่ 4 - วันที่ 6 
โดยค่าใช้จ่ายทางเราจะเสียค่าเจาะเลือด สำหรับค่าตรวจทางรัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งจะตรวจทั้งหมด 19 โรค   ผลของการตรวจจะทราบประมาณ 14 วันเป็นต้นไป โดยให้ติดต่อกับทางโรงพยาบาล 
ก็ขอให้ลูกของเราปกติดีทุกอย่างเถิดนะ เพี้ยง

แล้วก่อนกลับเจ้าหน้าที่ก็ให้เอกสารเกี่ยวกับกฏการเข้ามาเยี่ยมหลังคลอดมาให้อ่าน ก็คือโรงพยาบาลนี้เขาจะรักษาความปลอดภัย เรื่องเสียง แล้วก็มีการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิด เพราะฉะนั้นเวลาจะมาเยี่ยมก็จะมีกฏของทางโรงพยาบาลด้วย คือว่าจะมีให้มาได้ประมาณกี่โมง มีให้แสดงบัตรเข้า - ออกโรงพยาบาล (ซึ่งอันนี้ต้องทำเรื่องก่อน) 
ก็ดีเหมือนกันเนอะ ^^






ตรวจครรภ์ครั้งที่ 13 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ 6 วัน)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 13 (อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ 6 วัน) ครั้งนี้คุณซูไปด้วย ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ พยาบาลก็บอกว่าคุณหมอที่ตรวจประจำอยู่ตอนนี้ติดผ่าตัดอยู่ (น่าจะติดผ่าคลอดอยู่อ่ะนะ) จะรอมั้ย ใช้เวลารอประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าไม่อยากรอก็สามารถตรวจกับคุณหมออีกคนนึงที่เป็นผู้ชาย คุณซูอยากให้ตรวจกับหมอคนเดิม แล้วเราก็ไม่ค่อยอยากตรวจกับคุณหมอผู้ชายเท่าไหร่ ก็เลยตัดสินใจรอ ระหว่างรอก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 112/73 (ครั้งที่แล้ว 126/71) จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 70.0 (ครั้งที่แล้ว  69.2)

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Mukumi purasu (ในสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ช่อง Mukumi ตรงเครื่องหมายที่เป็น + เลยมีทั้งปากกาสีดำกับสีแดงวง 2 วงเลย ก็น่าจะบวมอ่ะนะ เพราะเราดูแค่ตาเปล่าเท้าบวมเปล่งเลย เจ็บส้นเท้าด้วย 

จากนั้นก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขา แล้วก็บอกว่าเด็กตัวใหญ่ ไม่ได้ใหญ่เฉพาะส่วนนะ คือเป็นเด็กตัวใหญ่ อยากให้คลอดออกมาเร็ว ๆ 

แต่ว่าตอนนี้เด็กยังไม่กลับหัวเลย เพราะถ้าเด็กที่กลับหัวแล้ว ตำแหน่งของหัวใจจะอยู่ด้านล่าง แต่นี่ของเราตำแหน่งหัวใจของเจ้าหนูยังอยู่บน ๆ อยู่เลยอ่ะ จากนั้นคุณหมอก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น

น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,925 กรัม (ขึ้นมา 395 กรัมใน 1 สัปดาห์ ขึ้นเยอะมาก ><) 

แล้วคุณหมอก็ให้ไปห้องสำหรับตรวจภายใน เพื่อจะได้ดูว่าเด็กตัวใหญ่ประมาณไหน แล้วอยู่ในตำแหน่งไหนแล้ว ตอนตรวจคุณหมอก็ให้สูดลมหายใจเข้า เข้า เจ็บสุด ๆ  ผลดูแล้วปรากฏว่าคุณหมอยังไม่เห็นว่าเด็กเลื่อนลงมาข้างล่างเลยอ่ะ 

คุณหมอเลยแนะนำแบบสีหน้าเครียดและจริงจังมากว่าให้พยายามเคลื่อนไหว อย่างถูพื้น (ถูแบบสมัยก่อนไม่ใช้ไม้ถู) ถึงท้องจะตึง ๆ ก็ให้พยายามทำ 

คุณหมอก็บอกว่าน้ำหนักของเด็กพอถึงกำหนดน่าจะอยู่ที่ 3,600 กรัมแน่ ๆ หรือถ้าไม่ถึงก็น่าจะเกิน 3,100 กรัม ก็เลยบอกอีกว่าให้พยายามขยับ ๆ ตัว เคลื่อนไหว

เป็นอันเสร็จการตรวจในครั้งนี้

ค่าตรวจในวันนี้ 2,370 เยน

นัดครั้งต่อไปอีก 1 สัปดาห์

อ้อ...ก่อนที่จะจ่ายเงินเจ้าหน้าที่ก็เอาเอกสารมาให้เราเขียนแล้วก็เซ็นด้วย เป็นเอกสารอะไรขอเขียนบล็อกต่อไปน้า

อาการในช่วงนี้ :

- เจ้าหนูยังดิ้นแรงเหมือนเดิม

- ตอนเช้าของบางวัน ขาเป็นตะคริว คราวนี้เป็นทั้ง 2 ข้างเลย

- การเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยขึ้นจากตื่นขึ้นมา 1 ครั้ง เป็น 2 ครั้ง คุณซูบอกว่าอาจจะเป็นการเตรียมตัวเข้าโหมดตอนให้นมลูกที่ต้องตื่นขี้นมาบ่อย ๆ อืม...น่าจะจริงแหะ

- ปวดหลังมากขึ้น แล้วก็ปวดหน่วง ๆ บริเวณด้านล่าง

- ตกขาวยังมามากเหมือนเดิม




วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หนังสือสำหรับเจ้าหนู

จากการที่เราได้อ่านหนังสือหรือเว็บที่เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็กมา "แม่" จะเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการเลี้ยงดูและสั่งสอนลูก เราชักกังวล ๆ ว่าเราจะทำได้หรือเปล่า
ขอบคุณพ่อกับแม่ของเรามาก ๆ ที่เลี้ยงพวกเรามาได้ดีขนาดนี้

ในยุคไฮเทคแบบนี้ เราจะได้ยินจากพี่ ๆ น้อง ๆ ว่าการเลี้ยงลูกยากมาก  การแข่งขันก็สูง เอาล่ะซิ ความเครียดสำหรับเราก็ตามมา ใคร ๆ ก็อยากให้ลูกตัวเองเก่งและฉลาด ภาษาอังกฤษเอย กีฬาเอย ดนตรีเอย ฯลฯ  (เครียดตั้งแต่ยังไม่ได้เลี้ยง 555)

อย่างเรื่องของภาษา ที่เราตั้งใจไว้ก็คือ ตัวเราเองจะใช้ภาษาไทย ส่วนภาษาญี่ปุ่นก็เป็นหน้าที่ของคุณซูไป บวกกับอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้เราก็คิดว่าภาษาญี่ปุ่นก็น่าจะได้ตามธรรมชาติ แต่กับภาษาไทยนี่สิ เจ้าหนูจะสนใจหรือเปล่า เพราะเราอยากให้ได้ทั้ง 4 ทักษะฟัง พูด อ่าน เขียนเลย

ภาษาอังกฤษก็อยากให้เจ้าหนูได้เหมือนกัน เพราะทุกวันนี้โลกเปิดกว้างมาก ๆ ความเป็นสากล ความเป็นอินเตอร์ฯ เข้ามามีบทบาทในชีวิตเราสูงมาก อย่างเราไม่ได้ภาษาอังกฤษ ทุกวันนี้ยังรู้สึกอยากเก่งภาษาอังกฤษจัง อยากพูดได้จัง อยากฟังอยากอ่านรู้เรื่องจังว่าเขาสื่ออะไร

ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกบทความนี้ "หนังสือสำหรับเจ้าหนู" ก็ขอให้ตัวเราขยันสอน เจ้าหนูรับและเรียนรู้ด้วยน้า

วันนี้ไปซื้อมา ก็ดีเหมือนกันเราจะได้เรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นกับเจ้าหนูไปด้วยเลย อิอิ




ส่วนเล่มนี้ซื้อมาตอนท้องช่วงแรก ๆ เราก็อ่านให้ฟังได้แค่ช่วงนึง แต่ด้วยความที่เราไม่ใช่เจ้าของภาษา เลยไม่มั่นใจที่จะอ่านให้ฟัง ว่าออกเสียงถูกหรือเปล่า สำเนียงได้มั้ย  ก็เลยมีให้คุณซูช่วยอ่านให้บ้าง







ส่วนรูปล่างเราจะใช้อ่านให้ฟังเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นภาษาบ้านเกิดของเราเองอ่ะเนอะ
ซื้อตอนที่กลับไทยตอนปีใหม่ ไม่รู้ข้างบ้านจะบ่นหรือเปล่า เพราะขนาดคุณซูนอน ๆ อยู่ยังบอกว่าได้ยินเสียงเราเลย



ส่วนรูปล่างจะเป็นหนังสือสำหรับเราแต่ขอแทรกในบล็อกนี้ด้วย อิอิ

รูปล่างนี้ก็ได้คำแนะนำจากแม่ ๆ ทั้งหลาย ก็เลยได้รับ + ซื้อมาพร้อมกันตอนที่กลับไทย แต่ยังอ่านไม่จบซักเล่ม 555




และรูปล่างจะเป็นนิตยสารเกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ การเลี้ยงลูกและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของที่นี่  ก็ดีเหมือนกัน บางอย่างที่ไทยแนะนำ ของญี่ปุ่นไม่มี ของญี่ปุ่นแนะนำ อะไรประมาณนี้  แต่ก็อ่านไม่จบสักเล่ม  555




นี่คงต้องเตรียมตัวที่จะเป็นคุณครูคนแรกของเจ้าหนูแล้วสินะ ^_^






วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของโรงพยาบาล ครั้งที่ 3 (เกี่ยวกับการคลอด, เตรียมของเข้าโรงพยาบาล, ชมห้องคลอด)

วันนี้มีอบรมคอร์สคุณแม่ของทางโรงพยาบาลครั้งที่ 3 จริง ๆ เราตั้งใจจะจองเข้าอบรมในเดือนที่แล้วแล้ว แต่ว่าของเดือนที่แล้วเต็ม ก็เลยมาของเดือนนี้ มาของเดือนนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะยังจำได้อยู่ว่าต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเกิดเจ็บท้องคลอดขึ้นมา

พอถึงเวลาพยาบาลก็มาเปิดวีดีโอให้ดู วีดีโอนี้เหมือนของที่สำนักงานเขตเข้าเคยเปิดให้ดูเลย คือให้ดูว่าคลอดธรรมชาติคลอดยังไง หายใจแบบไหน ตอนที่หัวของทารกออกมาแล้วต้องหายใจยังไง ดูแล้วนึกถึงตอนของตัวเองว่าจะเป็นยังไง เสียว >< คงเจ็บน่าดู

พอดูเสร็จแล้ว พยาบาลก็จะพูดถึงว่า ถ้าเจ็บท้องขึ้นมาแล้ว ควรจะเข้าโรงพยาบาลตอนไหน ซึ่งถ้ามีอาการลักษณะแบบนี้คือสัญญาณที่ว่าใกล้จะคลอดแล้ว คือ
1. ในบางครั้งท้องจะเริ่มแข็ง
2. รู้สึกว่ามดลูกอยู่ต่ำลง
3. การดิ้นของทารกจะช้าลง
4. ปวดเอวปวดสะโพก
5. ปัสสาวะบ่อย
6. เจ็บท้องเตือน (คือปวดท้องแบบที่ไม่เคยปวดมาก่อน โดยปกติจะเริ่มมีอาการปวดตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 35 ไปแล้ว) ซึ่งถ้าเจ็บท้องเตือนแล้ว  พยาบาลแนะนำว่าให้จดเวลาเอาไว้ การบีบตัวของมดลูกในช่วงนี้จะมากกว่า 6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง หรือมากกว่า 1 ครั้งในทุก ๆ 10 นาที ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้แล้วนั่นก็หมายความว่าเป็นการเริ่มต้นของการคลอด
7. เจ็บท้องคลอด
8. จะมีเลือดออกมาเล็กน้อย  แบบเหนียว ๆ มาพร้อมกับตกขาว (ซึ่งก็คือสัญญาณเตือน)
9. น้ำคร่ำเดิน  จะเป็นลักษณะเดี๋ยวไหลเดี๋ยวหยุด กลิ่นจะออกเปรี้ยว ๆ ซึ่งถ้ามีน้ำคร่ำเดินแล้ว ให้ใส่ผ้าอนามัยแล้วโทรไปที่โรงพยาบาลก่อน แล้วเดินทางไปโรงพยาบาล

หมายเหตุ บางคนอาจจะมีน้ำคร่ำเดินก่อนที่จะเจ็บท้องคลอดก็ได้ ให้รีบไปโรงพยาบาล

ลำดับการคลอดจะมีด้วยกันอยู่ 3 ช่วงคือ
การคลอดระยะที่ 1 จะเริ่มตั้งแต่เจ็บท้องคลอด จนถึงปากมดลูกเปิดเต็มที่ที่ประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับคนที่คลอดเป็นครั้งแรก ระยะที่ 1 นี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 10 - 12 ชั่วโมง  สำหรับคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว ระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 5 - 6 ชั่วโมง

การคลอดระยะที่ 2 จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดเต็มที่แล้ว จนถึงทารกคลอดออกมา สำหรับคนที่คลอดเป็นครั้งแรก ระยะที่ 2 นี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 1 - 2 ชั่วโมง สำหรับคนที่เคยคลอดลูกมาแล้ว ระยะนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 30 นาที
ในช่วงที่หัวทารกออกมาแล้ว ให้หายใจแบบผ่อนคลาย ช้า ๆ

การคลอดระยะที่ 3 จะเป็นคลอดรกออกมา ซึ่งจะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 5 - 15 นาที

เจ้าหน้าที่ก็มีพูดถึงวิธีการหายใจในตอนคลอดด้วย แต่ ณ เวลานั้นแต่ละคนคงตื่น ๆ ทำอะไรไม่ถูก ซึ่งทางที่ดีที่สุดให้ฟังที่พยาบาลบอกว่า ตอนไหนให้หายใจเข้า ตอนไหนให้หายใจออก

ในการอบรมครั้งนี้ มีให้แนะนำตัวเองด้วย ให้บอกว่าชื่ออะไร กำหนดการคลอดเมื่อไหร่ ถ้ารวมเราด้วยแล้ว จะมีคนต่างชาติอยู่ 4 คน คือเรา (ไทย) คนจีน คนกัมพูชา แล้วอีกคนไม่รู้ชาติอะไรเพราะเขาไม่ได้บอกมา  ดีใจเหมือนกันที่มีคนต่างชาติมาคลอดที่นี่ จะได้มีเพื่อน

จากนั้นก็พูดถึงเรื่องประเภทการคลอด ซึ่งเราเคยเขียนไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนี้
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/06/birth-plan.html
ซึ่งเราเลือกคลอดแบบธรรมชาติแล้วก็ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย ซึ่งใครที่ให้สามีเข้าห้องคลอดด้วย ก็จะมีการอบรมในเรื่องนี้อีกครั้งนึงในสัปดาห์หน้า ครั้งนี้คุณซูก็จะเข้าอบรมด้วย


ต่อมาก็พูดถึงเรื่องของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ตอนที่เข้าโรงพยาบาล โดยพยาบาลโชว์ถุงใหญ่มากให้ดู แล้วก็โชว์ของที่อยู่ในถุง ซึ่งเราก็เคยเขียนไว้ในลิ้งค์ด้านล่างนี้
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/blog-post_27.html

ก็คือที่เราจะเตรียมไปก็จะมีสมุดสุขภาพแม่และเด็ก บัตรประกันสุขภาพ บัตรต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง  อิงคัง  เอกสารพวกใบเสร็จตอนที่จ่าย 1 แสนเยนเมื่อเดือนก่อน ๆ  ชุดชั้นใน (เพราะของที่โรงพยาบาลเตรียมให้คงไม่พอ)    เสื้อใส่ตอนออกจากโรงพยาบาล

ในช่วงที่อยู่โรงพยาบาล จะไม่ให้แต่งหน้า น่าจะรวมถึงไม่ให้ทาโลชั่นด้วยมั้งนะ
ส่วนของเด็กในตอนที่ออกจากโรงพยาบาล ก็ไม่ต้องเตรียมอะไรไปเหมือนกัน เพราะทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชุดตอนออกจากโรงพยาบาล ผ้าห่อตัวเด็ก แต่ถ้าใครจะมีชุดพิเศษสำหรับลูกจะไม่ใช้ชุดของทางโรงพยาบาล ก็สามารถแจ้งได้

สุดท้ายก็ให้ชมห้องคลอด ห้องพักฟื้น
ห้องที่เราเลือกจะเป็นห้องส่วนตัว ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ลักษณะของห้องก็จะมีเตียง โซฟา ห้องน้ำ อ่างล้างหน้า ลืมดูว่ามีพวกทีวี ตู้เย็นหรือเปล่า ส่วนที่อาบน้ำก็จะเป็นที่อาบรวม แยกออกไป

ส่วนห้องแบบที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ก็คล้าย ๆ ของที่เราเลือกแต่จะเพิ่มห้องอาบน้ำ อ่างล้างหน้าใหญ่ขึ้น ห้องกว้างขึ้น

นี่ก็ใกล้แล้วเนอะ พยาบาลบอกว่าอายุครรภ์ที่สามารถคลอดได้แบบไม่มีปัญหาก็คืออยู่ที่ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป จนถึงที่ประมาณ 41 สัปดาห์ ก็ขอให้คลอดตามกำหนดเถิดนะ เพี้ยง















วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 12 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์ 6 วัน)

หลังจากที่นอนโรงพยาบาล 1 คืน ตอนเช้าคุณหมอมาตรวจก็ไม่มีอะไรสามารถกลับบ้านได้คุณซูก็ลางานมารับ พร้อมกับเอาชุดมาให้เปลี่ยน (เตรียมพร้อมดีมาก ๆ เลย) แต่ว่าพรุ่งนี้มีนัดตรวจครั้งที่ 12 เราก็เลยถามคุณหมอว่าให้มาอีกทีวันพรุ่งนี้เปล่า คุณหมอก็เลยให้ตรวจไปเลยทีเดียวในวันนี้ ดีใจจังเพราะคุณซูจะได้เห็นเจ้าหนูผ่านหน้าจอหลังจากที่ไม่ได้เห็นมาหลายครั้ง

ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 126/71 เพิ่มจากครั้งที่แล้ว จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 69.2 (ครั้งที่แล้ว  69.0)

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Mukumi nashi  แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว แล้วก็บอกว่าเจ้าหนูหัวใหญ่นะเนี่ย อยากให้หนูคลอดออกมาเร็ว ๆ

จากนั้นดูส่วนที่เป็นกระดูกของขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น 

คุณหมอบอกว่าพยายามเดินออกกำลังกายให้มากขึ้น เพราะเจ้าหนูยังไม่กลับหัวเลย 

น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,530 กรัมกว่า ๆ พอตรวจซาวด์เสร็จ เราก็ถามคุณหมอเรื่องผล GBS ที่ตรวจไปเมื่อครั้งที่แล้ว คุณหมอบอกว่าเชื้อยังอยู่ ตอนคลอดจะให้ยาทางสายเลือด ซึ่งถ้าถึงเวลานั้น เดี๋ยวเรามาเขียนอีกทีว่าเป็นยังไง 

แล้วเราก็ถามคุณหมอว่า เด็กหัวใหญ่นี่ผิดปกติหรือเปล่า คุณหมอขำเล็กน้อย แล้วก็บอกว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่เนื่องจากว่าหัวของคนเราแต่ละคนมาจาก DNA ของพ่อกับแม่ (แล้วคุณหมอก็มองเรา แล้วก็มองคุณซู) เจ้าหนูน่าจะได้ทางพ่อมากกว่า ค่อยโล่งอกหน่อย 

ก็เป็นอันจบการตรวจในครั้งนี้

จากนั้นก็มีการเจาะเลือด ดูว่าเลือดจางหรือเปล่า เราได้ยินค่าตัวเลขอยู่ที่ 10.9 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์นิดเดียว พยาบาลเลยบอกให้เสริมอาหารที่มีธาตุเหล็ก (ไม่ได้ให้ยามาอ่ะ ให้ทานจากอาหารเอา) 

แล้วพยาบาลก็พูดถึงการเตรียมของ เตรียมตัวในการคลอดแบบคร่าว ๆ ให้ฟัง ซึ่งเรื่องนี้จะมีอบรมในวันมะรืนอยู่แล้ว เลยขอเขียนทีเดียวในบทความถัดไปนะ

ค่าตรวจในครั้งนี้ + ค่านอนโรงพยาบาล 1 คืน 15,810 เยน

นัดครั้งต่อไปอีก 1 สัปดาห์

อาการในช่วงนี้ :

- เจ้าหนูยังคงดิ้นแรงเหมือนเดิม ยิ่งถ้าคุณซูสะกิดเล่นด้วย เจ้าหนูก็ตอบรับทันทีบ้าง เว้นช่วงเวลาบ้าง แต่ตอบรับบางครั้งก็ทำเอาเราจุกแบบเจ็บ ๆ ก็มีนะ

- ตกขาวยังคงมามากเหมือนเดิม

- สายตายังคงสั้นเหมือนเดิม 

- เท้าบวม มือบวมมีบ้างที่ชา ๆ หน้าตารู้สึกโทรม ๆ ฝ้าที่แก้มชัดเจนเลย (ขอให้ฝ้าหายหลังจากคลอดด้วยเถิด)

- ช่วงตื่นลุกขึ้นจากที่นอน เป็นอะไรที่ปวดบริเวณเชิงกราน ปวดหลังสุด ๆ ต้องค่อย ๆ เดินแบบพยุงท้องไปด้วย 

 

 

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

นอนโรงพยาบาล 1 คืน เพราะมีเลือดออก


วันนี้ออกไปซื้อของข้างนอกมา อาจจะเดินเยอะไปหน่อย บวกกับเท้าก็บวมอยู่แล้ว ตอนอาบน้ำก็เลยกะว่าจะแช่เท้าสักพักนึงให้เลือดหมุนเวียนดีขึ้น
ระหว่างที่อาบน้ำก็นวดหน้าอกไปด้วย เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือว่าถ้าเข้าเดือนที่ 10 (นับตามแบบของญี่ปุ่น) ให้พยายามนวดเต้านม เพื่อให้น้ำนมไหล  ตอนแรกที่นวด ๆ ก็ไม่มีอะไร แต่พอเราลงโอฟุโระ แช่แค่เท้า ระหว่างที่แช่ก็นวดหน้าอกอีก พร้อมกับบริหารเท้าด้วยการยกส้นเท้าขึ้นลง ขึ้นลง ประมาณ 10 ครั้ง แล้วก็ขึ้นจากโอฟุโระ เท่านั้นแหล่ะ เลือดไหลเป็นทางเลย คล้าย ๆ กับตอนที่ประจำเดือนมา สีแดง ไหลไม่หลุดเลย เราตกใจมาก เรียกคุณซู พอคุณซูเห็นรีบโทรไปโรงพยาบาลแจ้งอาการทันที
ทางพยาบาลคงถามมาว่า มีอาการปวดท้องร่วมด้วยมั้ย ซึ่งตอนนั้นไม่มีอาการปวดท้อง ท้องไม่ตึง มีแต่เลือดไหลอย่างเดียว คุณซูก็เลยบอกว่า "ให้แต่งตัว ใส่ผ้าอนามัยด้วย เดี๋ยวเขาไปเอารถมาก่อน ไม่ต้องร้องไห้ทำใจสบายๆเพราะเดี๋ยวส่งผลถึงเด็กด้วยนะ (คือตอนนั้นเรานึกอยู่ในใจเลยว่าเป็นความผิดของเราเลย ที่นวดหน้าอก บริหารเท้า เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ กลัวลูกเป็นอะไรด้วย...)"
เราก็แต่งตัว เตรียมกางเกงในสำรอง ผ้าอนามัยสำหรับเปลี่ยน สมุดแม่และเด็ก บัตรต่าง ๆ รอคุณซูมารับ ซึ่งตอนนั้นก็ประมาณ 4 ทุ่มกว่า ๆ แล้ว ไปถึงโรงพยาบาลก็ประมาณ 4 ทุ่มครึ่งได้ โรงพยาบาลก็ปิดประตูใหญ่แล้ว เรากับคุณซูต้องกดกริ่ง เจ้าหน้าที่ถึงเปิดประตูให้

จากนั้นเราก็เข้าห้องที่มีเตียงสำหรับคลอด แล้วพยาบาลก็เอาเครื่องมาวัดการเต้นของหัวใจทารก แล้วก็ดูว่าท้องตึงหรือเปล่า เครื่องจะแสดงออกมาเป็นกราฟ  ระหว่างที่รอคุณหมอมา กราฟในส่วนของการเต้นของหัวใจทารกปกติ ทารกแข็งแรงดี ส่วนกราฟที่แสดงการตึงของท้อง มีช่วงแรกที่พุ่งสูง แต่หลังจากนั้นก็ลดลงเป็นปกติ รอคุณหมออยู่นานพอสมควร พอคุณหมอมา คุณหมอถามว่าเลือดออกจากตรงไหน ซึ่งเราก็บอกว่าเหมือนประจำเดือนมา คุณหมอก็งง เพราะเลือดไม่ไหลแล้ว ตรวจที่ช่องคลอดก็ไม่มีวี่แววว่าจะคลอด ใช้เครื่องตรวจดูภายในก็ปกติดี คุณหมอก็เลยบอกว่าไม่มีอะไร สามารถกลับบ้านได้ หรือว่าจะนอนดูอาการก่อนก็ได้

เราก็เลยปรึกษาคุณซู คุณซูให้นอนดูอาการก่อนดีกว่า ก็ตามนั้น แต่งงว่าแล้วเลือดนั้นมาจากที่ไหน???
แต่ระหว่างที่รอคุณหมอ เราก็บอกกับพยาบาลว่าตอนอาบน้ำ เรานวดเต้านม พยาบาลก็เลยบอกว่าไม่ควรที่จะนวดบริเวณนั้น เพราะจะทำให้มดลูกบีบตัว พอฟังปุ๊บ ใช่ที่เราคิดจริง ๆ ด้วย ต่อไปนี้ไม่ทำแล้ว
กลัวเป็นเหมือนวันนี้

พอตอนเช้าคุณหมอที่ตรวจเราอยู่ประจำ ก็มาตรวจอีกที ก็บอกว่าช่องคลอดก็ไม่ได้เปิด ปกติดี เลือดนั้นน่าจะมาจากก้น (แต่เราไม่ได้เป็นริดสีดวงนะ) เอาเป็นว่าปลอดภัย ก็โอเคแล้วหล่ะ

วันถัดไปจะมีนัดตรวจครั้งที่ 12 ก็เลยถามคุณหมอว่าให้มาอีกครั้งวันรุ่งขึ้นหรือเปล่า คุณหมอก็เลยให้ตรวจในวันนี้เลย

ค่ารักษาในวันนี้เลยไปคิดรวมกับตรวจครั้งที่ 12





เตรียมของเด็ก - หมวดเตียงนอน และอื่น ๆ

ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อที่นอนให้เจ้าหนู เรากับคุณซูนี่คิดหนักเหมือนกัน เพราะเพื่อนคุณซูส่วนใหญ่ที่มีประสบการณ์มีลูกมาแล้วก็จะบอกว่าเตียงไม่ได้ใช้ สุดท้ายทำเป็นที่ตากผ้าเอย ส่วนใหญ่จะให้ลูกนอน Futon (ก็คือให้นอนฟูกกับพื้น)  กัน แต่พอถามทางบ้านเราหรือญาติ ๆ ของเราที่ไทย ส่วนใหญ่ก็จะให้นอนเตียงเด็กกัน หรือไม่ก็นอนเตียงเดียวกับพ่อแม่ ก็เลยมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่สรุปสุดท้ายเรากับคุณซูก็เลือกซื้อเป็นเตียงเด็ก เพราะที่นอนเรากับคุณซูเป็นเตียง ถ้าเลือกเป็น Futon ก็เท่ากับว่าเราต้องมานอน Futon กับลูกด้วย เตียงก็จะไม่มีคนนอน แต่ว่าเรากับคุณซูไม่ได้เลือกเตียงที่ทำจากไม้ พอดีไปเห็นเตียงที่พับเก็บพกพาได้ ก็เลยตัดสินใจเลือกแบบนี้ พอเจ้าหนูโตไม่ได้ใช้แล้วก็จะได้พับเก็บได้เป็นการประหยัดพื้นที่ที่บ้านด้วย
แต่พอจะซื้อเข้าจริง ๆ ที่ Akachanhonpo ไม่มีของ งานเข้าแล้ว เลยลองหาดูในเว็บของ Toysrus ปรากฏว่ามีขายแบบนี้เหมือนกัน ก็เลยไปดูเลย ดีที่ยังมีของ แล้วก็ยังมีสีที่เราอยากได้ (แต่หลังจากนั้น หลายวันผ่านไป เรากับคุณซูไปดูของอย่างอื่น ปรากฏว่าที่ Toysrus ที่เราซื้อเตียง ไม่มีสต็อกเตียงแล้ว มีแต่ที่โชว์อยู่ โชคดีจัง ไม่รู้ว่าขายดีเกิน หรือว่าขายไม่ดีโรงงานเลยไม่ผลิตก็ไม่รู้)

หน้าตาก็จะเป็นแบบนี้ของ Aprica   รุ่น Coconel ราคาที่ซื้อรวม VAT 21,598 เยน





ขอบคุณรูปจาก Google

จากนั้นก็มาดูฟูกที่จะปูที่เตียง ถ้าของ Aprica เอง (ตามตัวอย่างที่ร้านโชว์) ราคา 2 หมื่นกว่าเยนแหน่ะ ก็เลยซื้อยี่ห้ออื่นที่ไซส์เหมือนกัน เลยได้แบบนี้มาเป็นเซ็ท ที่ร้าน Akachanhonpo ราคา 15,800 เยน


ในเซ็ทนี้ก็จะมีของอยู่ 6 ชิ้น
1. ฟูกที่นอน
2. ปลอกสำหรับฟูกที่นอน
3. ผ้าห่มนวม
4. ปลอกผ้าห่มนวม
5. หมอน
6. ปลอกหมอน

แล้วก็ซื้อผ้ารองกันเปื้อนที่นอนมา 2 ผืน ผืนละ 1,007 เยน



จากนั้นก็ซื้อผ้าปูรองกันน้ำ (เราเอามากันฉี่) มา 2 ผืน ผืนละ 801 เยน



แล้วก็หมอนหลุม 1,007 เยน




ทั้ง 3 อย่างซื้อที่ Akachanhonpo



ส่วนของอื่น ๆ ที่ว่าก็จะเป็นลิ้นชักพลาสติกสำหรับเก็บผ้า เสื้อผ้าของเจ้าหนู

ก็น่าจะเตรียมครบหมดแล้ว (มั้งนะ)


สรุปยังไม่ครบ 555 วันที่ 1 กค. หลังจากตรวจครรภ์เสร็จ มีแวะไปซื้อเบาะกับผ้าปูกันน้ำมาให้เจ้าหนูได้นอนกลิ้ง ๆ ข้างล่าง
เบาะราคา 1,382 เยน
ผ้าปูกันน้ำ 1,299 เยน



น่าจะเตรียมครบหมดแล้วจริง ๆ แล้วเนอะ ^^






วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

Birth Plan ที่โรงพยาบาลให้มากรอก

ตอนที่ตรวจครรภ์ครั้งที่ 4 (อายุครรภ์ 16 สัปดาห์) ทางโรงพยาบาลก็จะให้เอกสารมา ในนั้นก็จะมี
- คู่มือแนะนำการคลอดที่โรงพยาบาล
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/blog-post_27.html

- เอกสารสำหรับคนค้ำประกัน (คนค้ำจะเป็นสามีไม่ได้ แต่ถ้าพ่อสามีได้ ก็เลยให้คุณพ่อคุณซูเป็นคนค้ำให้ แล้วก็ยื่นส่งภายในอายุครรภ์เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้วหล่ะ T T)

- Birth Plan

เนื้อหาใน Birth Plan จะถามเราว่า

จะเลือกวิธีการคลอดแบบไหน

1. ตั้งใจคลอดเองธรรมชาติ (ซึ่งกรณีนี้คุณแม่และลูกต้องไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด)
     #ถ้าจะคลอดเองแบบธรรมชาติโดยใช้ยาชาด้วยจะทำได้แค่ในช่วงเวลาทำงานของวันธรรมดาเท่านั้น

2. คลอดแบบกำหนดวัน (ให้เลือกระหว่าง 2.1 กับ 2.2)
   2.1 ต้องการคลอดเองแบบใช้ยา (ยกเว้นตอนกลางคืน และวันนักขัตฤกษ์) และต้องมีหนังสือยินยอม
[ปล. ยาที่ว่านี้เราว่าน่าจะหมายถึงยาเร่งคลอดกับยาชานะ]
   2.2 ไม่ต้องการคลอดเองแบบใช้ยาชา [เราก็คิดว่าไม่ใช้ยาชาแต่อาจจะใช้ยาเร่งคลอด]

3.  ให้สามีเข้าไปในห้องคลอดด้วย (ให้เลือกระหว่าง 3.1 กับ 3.2)
    3.1 ต้องการ (ตามกฏแล้ว จะสามารถให้สามีเข้าไปในห้องคลอดได้ในช่วงเวลาทำงานของวันธรรมดา และวันเสาร์ เท่านั้น)
    3.2 ไม่ต้องการ

หลังจากที่คลอดแล้ว
 โดยปกติห้องแม่กับห้องลูกจะแยกห้องกัน ในระหว่างวันสามารถบอกให้สต๊าฟพาลูกมาที่ห้องได้ และถ้าน้ำนมแม่ยังไม่มี ทางโรงพยาบาลจะให้สารอาหารผสมด้วย  ถ้าต้องการทราบวิธีทำสารอาหารที่ว่า สามารถระบุความต้องการได้

หลังจากที่คลอดแล้ว ต้องการห้องแบบไหน
1. ห้องส่วนต้วของแผนกสูติกรรม
2. ห้องส่วนตัวตึกใหม่ (5 วัน +เพิ่ม 5,000 เยน)
3. ห้องพิเศษตึกใหม่ (มีห้องอาบน้ำในตัว) (+เพิ่ม คืนละ 15,000 เยน)
          (หลังจากที่กรอกเสร็จแล้วและได้ยื่นเรียบร้อยแล้ว เฉพาะสามีสามารถพักได้คืนละ 10,000 เยน)

ให้ยื่น Birth Plan นี้ในช่วงอายุครรภ์ 28 - 36 สัปดาห์

----------------------------------------------------
เราก็ลองเอาใบนี้ปรึกษาคุณหมอว่าในกรณีของเราสามารถคลอดเองแบบธรรมชาติได้หรือเปล่า  คุณหมอก็บอกว่าส่วนใหญ่คนที่มาฝากครรภ์ที่นี่จะคลอดเอง ที่โรงพยาบาลนี้จะไม่เน้นการใช้ยา นอกเสียจากว่ามีกรณีพิเศษที่จำเป็นต้องใช้ ก็จะต้องให้สามีเซ็นรับรองก่อน
ที่นี่นี่เน้นธรรมชาติสุด ๆ
เราก็เลยเลือกข้อ 1 (คลอดเองแบบธรรมชาติ) , ข้อ 3.1 (ต้องการให้สามีเข้าไปด้วย ดังนั้นคุณซูก็ต้องอบรมคอร์สที่สามีเข้าไปในห้องคลอดด้วยว่าจะต้องทำยังไงบ้าง ก็ขอให้คลอดวันธรรมดาหรือวันเสาร์ในเวลาทำงานเถิดนะเพี้ยง เพราะถ้าไม่ใช่วันเวลาที่ว่าสามีก็เข้าไปไม่ได้ถึงเราจะระบุว่าต้องการก็เถอะ)
แล้วก็เลือกห้องแบบที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม (ขอประหยัดส่วนนี้ไปใช้ส่วนอื่นดีกว่า)





 



ได้เวลาซักเสื้อผ้าของเจ้าหนู + รื้อของที่ซื้อมาออกมาดู

วันนี้อากาศดีหลังจากที่ฝนตกมาหลายวัน ก็เลยรีบซักเสื้อผ้า ผ้าอ้อมของเจ้าหนูก่อนดีกว่า เพราะเดี๋ยวฝนมาอีกไม่ได้ซักกันพอดี
ส่วนใหญ่มีแต่ผ้าอ้อมแหะ เสื้อผ้ามีแค่ 13 ตัวเอง 555 คงไม่น้อยไปเนอะ
อีกล็อตนึง (พวกผ้าขนหนู) กะว่าจะซักพรุ่งนี้ เพราะวันนี้ไม่มีที่แขวนแล้ว *-*



แล้วก็เลยมาดู ๆ ของที่ซื้อมาว่าหน้าตาเป็นยังไง
อย่างแผ่นซับน้ำนม เป็นแบบนี้นี่เอง


สำลีทำความสะอาด อย่างเช็ดรอบปากของเด็ก เช็ดทำความสะอาดเต้านมก่อนให้นม เป็นต้น ใส่ซองอลูมิเนียมให้เรียบร้อย ข้างในซองเหมือนจะมี 2 แผ่น ทั้งหมดกล่องนี้มี 100 ซอง


แล้วก็เป้อุ้มเด็ก สายยั้วเยี้ยเต็มไปหมด คงต้องดูคู่มือประกอบว่าใช้ยังไง เห็นคนอื่นใช้ดูง่าย ๆ แต่ไม่รู้ว่าพอเราใช้เองจะง่ายอย่างงั้นหรือเปล่า


รื้อของออกมาก็ดีเหมือนกัน จะได้รู้ว่าต้องซื้ออะไรเพิ่มเติมบ้าง แต่ส่วนใหญ่คงเป็นของจุกจิก อย่างเช่น กล่องใส่คัตเติ้ลบัต + ใส่กรรไกร คล้าย ๆ กล่องใส่อุปกรณ์  กล่องที่ใส่พวกของใช้สำหรับอาบน้ำ กระเป๋าพกพาสำหรับใส่พวกแผ่นซับน้ำนม สำลี อะไรประมาณนี้ ของพวกนี้แวะร้าน 100 เยนเลย ^ 0 ^


วันพุธที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 11 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 11 (อายุครรภ์ 35 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะติดงาน ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 104/67 เพิ่มจากครั้งที่แล้วนิดหน่อย จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจ ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 69.0 (ครั้งที่แล้ว  68.5)

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Puramai แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขาให้ดูบริเวณที่เป็นส่วนกระดูกของต้นขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,500 กรัมกว่า ๆ  มีแว็บนึงที่ระหว่างดูหน้าจอ รู้สึกว่าเราจะเห็นหน้าของเจ้าหนู หน้าไปทางพ่อนะ ก็น่ารักดี (ลูกใครใครก็ต้องชมว่าน่ารักทุกคนอ่ะเนอะ ^^) 

เครื่องซาวด์ของที่นี่น่าจะไม่เหมือนของที่ไทย เพราะอย่างของน้องสะใภ้หรือคนที่รู้จักที่เขาโพสต์รูปที่ซาวด์ ก็จะเห็นโครงหน้าแล้วว่าคล้ายใครหรือหน้าตาเป็นยังไง แต่ของเราจะเห็นแค่ว่าเป็นส่วนหัวนะ ส่วนท้องนะ ตรงนี้ตา ตรงนี้อวัยวะภายใน ประมาณนี้อ่ะ คงต้องรอลุ้นวันคลอดว่าหน้าตาเจ้าหนูเป็นยังไง (ตื่นเต้น ๆ ^0^)

คุณหมอบอกว่าเด็กยังไม่กลับหัวลง ให้เราพยายามขยับตัว หรือเคลื่อนไหวให้เยอะขึ้น 

ก็เป็นอันเสร็จการตรวจซาวด์ในครั้งนี้ จากนั้นก็มาคุยกับคุณหมอ เราบอกอาการคุณหมอว่าตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา จะรู้สึกปวดบริเวณท้องด้านล่าง คุณหมอก็บอกว่าอาจจะเป็นเพราะท่านั่งของเราที่นั่งหลังไม่ตรง เลยทำให้ปวดบริเวณนั้นได้ 

แล้วคุณหมอก็บอกว่า แต่ว่าถ้ามีอาการเจ็บท้องเตือนในช่วงนี้ + กับอายุครรภ์ 35 สัปดาห์ไปแล้ว + กับน้ำหนักของทารกในครรภ์ก็เกิน 2,500 กรัม การคลอดในช่วงนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร 

เราฟังแบบนี้รู้สึกตกใจ เพราะยังไม่ได้เตรียมอะไร ๆ ให้เรียบร้อยเลย กลับไปบ้านคงต้องรีบเตรียมซะแล้ว อย่างซักผ้าของลูกเอย  แต่ช่วงนี้ฝนตกทุกวันเลยรอวันแดดเปรี้ยง ๆ จะรีบจัดการเลย

ส่วนเรื่องน้ำหนักของเราขึ้นมาจากก่อนท้อง 13 โล คุณหมอให้รักษาให้อยู่ที่ตัวเลขนี้ตลอดจนกว่าจะคลอด เพราะถ้าเกินเยอะ ๆ จะทำให้คลอดยากขึ้น (ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า เพราะกินเก่งขึ้นซะด้วยสิ)

พอพูดคุยกับคุณหมอเสร็จก็ไปตรวจภายในดูว่าเจ้าเชื้อ GBS ที่ตรวจไปเมื่อครั้งที่ 9 หลังจากที่ทานยาไปเจ้าเชื้อนี้หมดไปหรือยัง ผลน่าจะรู้สัปดาห์หน้า  

นัดครั้งต่อไปก็อีก 1 สัปดาห์ (เริ่มนัดถี่ขึ้นแล้ว)

ค่าตรวจในครั้งนี้ 2,920 เยน

อาการในช่วงนี้ :

- ตกขาวมาเยอะขึ้น

- เป็นตระคริวครั้งนึงตอนตื่นนอนที่ขาขวา ไม่รู้ว่าเพราะวันนั้นอาการเย็นแล้วเราไม่ได้ใส่ถุงเท้านอนหรือเปล่า  ปวดสุด ๆ แล้วทั้งวันนั้นก็ยังคงรู้สึกว่าปวดนิด ๆ ตลอดทั้งวัน

- ค่าสายตารู้สึกว่าสั้นลง 

- ท้องเริ่มตึง ๆ ปวดหน่วง ๆ 

- ท้องเริ่มผูกทั้ง ๆ ที่กินผักทุกวัน

- ตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกทุกวันเลย  

- เจ้าหนูดิ้นแรงขึ้น โดยเฉพาะหลังกินข้าว บางทีดิ้นจนทำเราจุกก็มี 555

 

อ้อ!!!แล้วในวันนี้เรายื่นกระดาษที่เคยได้รับจากโรงพยาบาลเกี่ยวกับเรื่อง Birth Plan ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย  

Birth Plan ที่ว่านี้คืออะไร คงต้องขอเขียนไว้ที่อีกบทความนึงซะแล้ว เพราะบทความนี้ก็ค่อนข้างยาวหล่ะ 


 

 

 

 



วันอังคารที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ทางเลือกใหม่ของผงซักฟอกญี่ปุ่น

ปกติผงซักฟอกที่ใช้ ๆ กันอยู่ก็จะเป็นแบบผง หรือไม่ก็แบบของเหลว แต่เมื่อไม่นานมานี้ที่ญี่ปุ่นมีผงซักฟอกที่เป็นทางเลือกใหม่มาโฆษณาให้ได้ลองใช้กัน เราก็กะว่าหมดจากที่ใช้อยู่ครั้งนี้ก็จะลองซื้อมาใช้ดู เพราะมันจะเป็นก้อน ๆ ใส่เข้าไปทั้งก้อนแบบนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้าแบบฝาบน หรือว่าแบบฝาหน้าก็ใส่ไปทั้งก้อนแล้วก็ตามด้วยเสื้อผ้าที่เราจะซัก  หน้าตากับยี่ห้อก็ตามรูปนี้เลย
เห็นเขียนไว้ด้วยว่าสามารถกำจัดกลิ่นได้ถึง 2 เท่า ก็พอดีเลยช่วงนี้ที่ญี่ปุ่นเข้าหน้าฝนแล้ว ส่วนใหญ่จะตากผ้าในบ้าน จะได้ไม่มีกลิ่นอับชื้น




ขอบคุณรูปจาก Google



วันพุธที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เตรียมของแม่และเด็ก - หมวดของเกี่ยวกับให้นมลูก

ในหมวดนี้เราไม่ค่อยได้เตรียมอะไรมาก อย่างขวดนม ที่ปั้มนมเรากะว่าจะไม่ซื้อเตรียมไว้เพราะจะเลี้ยงด้วยนมแม่ล้วน ๆ + กับไม่ได้ทำงานอะไร เห็นบางคนบอกว่าขวดนมไม่จำเป็นเลยถ้าแม่ไม่ได้ไปทำงานนอกบ้าน ก็เลยเดี๋ยวดูว่าตอนคลอดน้ำนมไหลเปล่า ถ้าฉุกเฉินหรือไม่ได้เป็นอย่างที่คิดก็คงให้คุณซูรับหน้าที่ไปซื้อในช่วงที่อยู่โรงพยาบาล

ในหมวดนี้ก็เลยเตรียมแค่นี้ ก็จะมี :

1.  เสื้อชั้นในสำหรับให้นมลูก(授乳兼用ブラジャー)ใช้อยู่ตอนนี้ 3 ตัว แล้วก็ซื้อเพิ่มอีก 1 ตัว ที่ร้าน Akachanhonpo ราคา 1,624 เยน (ไม่ขอลงรูปนะจ๊ะ ^^)

2.  แผ่นซับน้ำนม (母乳パット) 1 แพ็ค ซื้อที่ร้าน Akachanhonpo ราคา 880 เยน


3. ผ้าคลุมให้นม (授乳ケープ)ซื้อที่ร้าน Akachanhonpo ราคา 2,035 เยน
(รูปนี้ยังไม่ได้คลี่ออกมา ยังอยู่ในถุงของมันอยู่)


4. เสื้อที่สะดวกให้นมลูก (授乳口付き)  ซื้อมาตัวเดียวก่อนว่าสะดวกกว่าเสื้อผ้าทั่ว ๆ ไปหรือเปล่า
คือที่ดูเหมือนเสื้อกล้ามข้างในจะมีกระดุมปลดได้  ซื้อที่ร้าน Nishimatsuya ราคา 999 เยน



ธรรมเนียมการให้ของตอบแทน (お祝い返し)

หลังจากที่มาอยู่ที่ญี่ปุ่นสิ่งนึงที่เรารู้สึกได้ก็คือ เวลาเราให้ของอะไรใครเขาก็จะให้ตอบแทนกลับมา(お祝い返し)
อย่างตอนที่เพื่อนร่วมงานคุณซูประสบอุบัติเหตุตอนที่ทำงาน คุณซูก็ไปเยี่ยมแล้วก็มีให้เงินช่วยเหลือ แต่จำไม่ได้แล้วว่ากี่เยน สักพักก็มีพัสดุมาที่บ้านเป็นของตอบแทนที่คุณซูไปเยี่ยมหล่ะ
ของที่เขาส่งมาตอบแทนกรณีนี้จะเรียกว่า 「快気祝い=かいきいわい」 
หน้าตาแบบนี้ เป็นพวกน้ำยาซักผ้า ปรับผ้านุ่ม หรืออาจจะให้เป็นของอย่างอื่นก็ได้นะแล้วแต่



แล้วก็มีอีกเพื่อนคุณซูแต่งงานแต่น่าจะไม่ได้จัดงานแต่งมั้งนะ  พอคุณซูรู้ข่าวก็ใส่ซองให้  30,000 เยน  เราร้องอู้หูเลย แต่คุณซูบอกว่าเขาก็ให้กันประมาณที่เท่านี้หรืออาจจะมากกว่า
หลังจากนั้นเพื่อนเขาก็ให้ของตอบแทนมา เป็นแคตตาล็อกพวกเครื่องใช้ในครัว เครื่องไฟฟ้าชิ้นเล็ก ๆ
มาให้  ให้เราเลือกเองว่าถูกใจอันไหน แล้วก็ส่งไปรษณีย์ระบุของที่เลือก เพื่อให้บริษัทนั้นส่งของมาให้ หรืออาจจะให้เป็นของอย่างอื่นก็ได้นะแล้วแต่
ของตอบแทนในกรณีนี้จะเรียกว่า 「結婚之内祝=けっこんのうちいわい」 ซึ่งรู้สึกว่าจะมีธรรมเนียมด้วยอ่ะคือของตอบแทนที่จะคืนมาให้สำหรับแต่งงานนี้จำนวนเงินจะประมาณครึ่งหนึ่งของเงินที่ให้ไป แล้วก็ควรจะให้ภายใน 1 เดือนหลังจากที่ได้รับซองหรือหลังจากที่จัดงานแต่งไปแล้ว
 (ปล. นอกจากของตอบแทนงานแต่งแล้ว ของตอบแทนในกรณีอื่น ๆ ก็คงจะมีธรรมเนียมการคืนด้วยเหมือนกัน แต่เราไม่ค่อยรู้รายละเอียดเท่าไหร่ mT Tm)





หมายเหตุ : บริเวณที่ลบไปเป็นนามสกุลของคนที่ส่งมา

แล้วก็จะมีเพื่อนของคุณซูที่เวลาคุณซูไปเที่ยวไหนกลับมาแล้วก็ซื้อของฝากมาฝาก เขาจะต้องมีของคืนมาให้ด้วยตลอด อย่างตอนที่คุณซูไปฮอกไกโดคุณซูให้ขนม Shiroikoibito ไป  เขาก็จะให้ขนมเค้กกลับมาเลยเป็นลาภปากสำหรับเราเลย อิอิ

วันอังคารที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เตรียมของเด็ก - หมวดอาบน้ำ และ care goods

ในหมวดอาบน้ำ (沐浴)และ care goods(ケアグッズ)ที่เราเตรียมไว้ก็จะมี

หมวดอาบน้ำ :

1. baby bath (ベビーバス)ซื้อที่ร้าน Nishimatsuya ราคา  999 เยน


2. สบู่เหลวอาบน้ำเด็ก แบบฟอง (ベビー全身シャンプー 泡タイプ)  ราคา 820 เยน ที่เลือกยี่ห้อนี้ก็เพราะสามารถหาซื้อได้ตามซุปเปอร์ทั่วไป แต่ไม่รู้ว่าจะแพ้หรือเปล่าเนอะ ผิวเด็กก็เหมือนผิวผู้ใหญ่ที่แพ้ยี่ห้อโน้นนี้



3. ผ้าสำหรับถูตัว หรือสามารถนำไปใช้ได้ทั้งเช็ดตัวเช็ดหน้า ฯ  (ガーゼハンカチ)แพ็คนี้มี 20 ผืน ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 780 เยน



4. ผ้าขนหนู (バスタオル)เราซื้อมา 3 ผืน ที่ร้าน Nishimatsuya ผืนที่ไม่มีลายราคาผืนละ 399 เยน ส่วนผืนที่ลายเป็นรูปช้าง (คุณซูนี่ชอบรูปช้างจริงๆ ถามว่าทำไม ตอบว่าเพราะช้างเป็นสัญลักษณ์ของไทย ท่าทางรักเมืองไทยจริง ๆ ^^) ราคาผืนละ 599 เยน


5. ที่วัดอุณหภูมิน้ำ (湯温計)ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 389 เยน



ส่วน Care Goods ก็จะมี :

1. กรรไกรตัดเล็บ (爪切り)ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 580 เยน


2. ที่คีบขี้มูก (ベビーピンセット) แล้วก็จำไม่ได้ว่าซื้อที่ไหน ราคาเท่าไหร่อ่ะ




3. คัตเติลบัต (綿棒)1 กล่อง  ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 180 เยน


4. สำลีทำความสะอาด (清浄綿)ราคา 598 เยน




5. เบบี้ออยล์ (ベビーオイル)ราคา 820 เยน ที่เราเห็นขายจะมีหัวปั้มสีฟ้ากับสีชมพูที่เราเลือกสีฟ้าเพราะเขาเขียนว่าไม่มีน้ำหอม ของสีชมพูจะมีน้ำหอมผสมอยู่


น่าจะมีประมาณนี้อ่ะเนอะ