วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์)

 วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะติดงาน ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 101/62 ลดลงจากครั้งที่แล้ว จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 68.5 (ครั้งที่แล้ว  67.1) เจอคุณหมอพูดเลยว่าน้ำหนักขึ้นเยอะ หลังจากนี้ให้ควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2-3 กิโล แล้วคุณหมอก็พูดว่าท้องคงหนักน่าดู คงเห็นท้องเราใหญ่มั้งนะ เราก็สังเกตผู้หญิงญี่ปุ่นที่ท้องส่วนใหญ่ท้องจะเล็ก ๆ กันแหละ อย่างเวลาเราเดิน ๆ ข้างนอกก็มีคนมองมาเหมือนกัน ไม่รู้มองที่ว่าท้องเราใหญ่ หรือว่ามองเพราะอย่างอื่น แต่ก็ช่างเหอะเนอะ

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Puramai (ปกติจะพูดว่า Mukumi nashi = ขาไม่บวม) ก็แสดงว่าคงมีอาการบวม แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ดูหัวใจเต้น ฟังเสียงหัวใจเต้น น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,100 กรัม คุณหมอบอกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ แต่ให้คุณแม่คุมน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักเกิน 15 กิโลไปแล้วจะยิ่งทำให้คลอดยากขึ้น ก็เป็นอันเสร็จการตรวจซาวด์ในครั้งนี้

ก็มาพูดคุยกับคุณหมอ สิ่งที่เราถามคุณหมอในครั้งนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อ GBS ที่คุณหมอแจ้งผลเมื่อครั้งที่แล้ว คำถามที่เราถามก็คือหลังจากทานยาไปแล้วตรวจครั้งต่อไปไม่พบเชื้อ แต่ว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมที่ตอนคลอดเชื้อจะกลับมา ซึ่งคำตอบของคุณหมอก็คือถ้าทานยาแล้วเชื้อหายไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้ายาก็ช่วยไม่ได้ ยังมีเชื้ออยู่ ตอนคลอดก็จะทำการให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการเพิ่มภูมิให้กับทารก ซึ่งคุณหมอบอกว่าเท่าที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วหลังจากคลอดแล้วก็จะทำการตรวจเลือดโดยตรวจจากสะดือของทารก ก็คงเป็นขั้นตอนการตรวจของโรงพยาบาลอ่ะเนอะ ฟังแบบนี้แล้วค่อยสบายใจหน่อย ส่วนเรื่องที่ต้องระวังตอนนี้ก็คือเรื่องน้ำหนัก (อีกแล้ว) เพียงเรื่องเดียว 

ก็เป็นอันเสร็จการตรวจในครั้งนี้ นัดครั้งต่อไปอีก  2 อาทิตย์

ในตอนที่จ่ายเงินค่าตรวจ เราก็จองคอร์สอบรมสำหรับของทั้งพ่อและแม่ (3 ครั้งแรกจะแค่แม่อย่างเดียว) เนื่อหาของคอร์สสำหรับพ่อและแม่ก็จะเกี่ยวกับการที่คุณพ่อเข้าไปในห้องคลอดด้วย และก็จะให้เดินดู ๆ ห้องคนไข้ ซึ่งวันที่อบรมคุณพ่อก็ต้องมาด้วยกัน 

ค่าตรวจในวันนี้ 1,870 เยน 

พอกลับมาที่บ้านก็มาดูสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ครั้งนี้อีกแล้วที่ช่อง 浮腫 (อาการบวม) ผลจากการตรวจปัสสาวะ พยาบาลวงที่เครื่องหมาย - และ + ปกติจะแค่เครื่องหมาย - สงสัยครั้งนี้คงบวมนิดหน่อยมั้งนะ เพราะก่อนหน้านี้ ตื่นมาตอนเช้าเหมือนจะเป็นตะคริวที่ขา พอเริ่มรู้สึกเจ็บ ๆ เราก็พยายามยกขาสูงขึ้นนิดนึง อาการก็หายไป 

ส่วนอาการอื่น ๆ โดยรวมในช่วงนี้ :

- เริ่มเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น กลางคืนก็ตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 จะคล้าย ๆ ตอนตั้งท้องใหม่ ๆ เข้าห้องน้ำถี่เชียว

- การดิ้นของเจ้าหนูจะถี่ขึ้น โดยเฉพาะตอนเย็น - กลางคืน มีปูด ๆ ขึ้นมาบางทีก็ด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้าง แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปมือ หรือเท้า 

- ง่วงนอนมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้นมีปวดจิ๊ด ๆ เหมือนหายใจไม่ทันตอนที่เราออกกำลังกาย อย่างขึ้นลงบันได ก็เหนื่อยแล้ว 

 

 

 




 

 

 

 

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 9 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 31 สัปดาห์)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 9 (อายุครรภ์ 31 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูไม่ได้ไปด้วย เพราะติดงาน จริงๆ มีนัดตอนบ่าย ถ้าเป็นบ่ายคุณซูก็มาด้วยได้ แต่เมื่อวานทางโรงพยาบาลโทรมาเลื่อนขอเป็นช่วงเช้า ครั้งนี้ก็เลยต้องไปคนเดียว
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  บัตรประกันสุขภาพ  จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ

ความดันที่วัดได้ รู้สึกว่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ครั้งนี้อยู่ที่ 122/57 แต่คงไม่สูงมาก เพราะคุณหมอไม่ได้พูดอะไร หลังจากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ รอคุณหมอนานมาก เกือบชั่วโมงได้มั้ง เพราะคุณหมอมีผ่าตัด พอเรียกเข้าห้องก็มีการชั่งน้ำหนักก่อน  ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 67.1 กิโล (ครั้งที่แล้ว 66.5) ขึ้นมา 0.6 กิโล พอคุณหมอมาตรวจ ก็ซาวด์ ระหว่างที่ซาวด์คุณหมอก็ไม่ค่อยได้พูดอะไรมาก จะมีดูส่วนหัว วัดความยาวส่วนหัว ดูส่วนขา แล้วก็คงดูส่วนอื่น ๆ ด้วยอ่ะนะ เพราะเราก็ดูไม่ค่อยเป็น จากนั้นก็ฟังเสียงหัวใจเต้น คุณหมอบอกว่าปกติดี ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการซาวด์ในครั้งนี้ 

จากนั้นก็มาฟังผลจากการที่ตรวจภายในครั้งที่แล้ว เราแอบเห็นค่าแบคทีเรียในตกขาวเป็น + อ่ะ แล้วที่โต๊ะก็มีกระดาษขนาดครึ่ง A4 วางอยู่ คุณหมอก็ถามว่าอ่านญี่ปุ่นได้มั้ย เราก็บอกว่าได้นิดหน่อย คุณหมอก็เลยบอกว่าอย่างนั้นให้คุณซูช่วยอ่านด้วย แล้วก็อธิบายให้เราฟังคร่าว ๆ ว่า ผลการตรวจก็คือในช่องคลอดเรามีแบคทีเรียอยู่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป โดยปกติก็จะมีอยู่ในร่างกายคนปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ท้อง ไม่ได้อะไรก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน แต่สำหรับคนท้องแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันทารก คุณหมอก็เลยจะจัดยาให้มาทานสำหรับ 1 อาทิตย์ แล้วในการตรวจของครรภ์ที่อายุ 35 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจภายในแบบนี้อีกครั้ง ถ้าแบคทีเรียนี้ไม่หมดไป ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่จะเบ่งคลอด คุณหมอก็จะให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไปที่ทารก

กระดาษที่คุณหมอให้มาจะเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นหัวข้อคือ 「GBS感染症について」

GBS = Group B Streptococcus 

จากนั้นคุณหมอก็ถามว่ามีอะไรจะถามมั้ย เราก็เลยถามว่า จะเป็นอันตรายมั้ย คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นอันตราย เพราะมันก็คือแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป แล้วก็เลยถามต่อว่าแล้วช่วงนี้ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า คุณหมอก็เลยตอบว่า "น้ำหนัก" 

แล้วคุณหมอก็ดูน้ำหนักครั้งที่แล้ว กับครั้งนี้ แล้วก็บอกว่าถ้ารักษาได้ระดับแบบนี้ก็โอเค

ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการตรวจในครั้งนี้ 

นัดครั้งต่อไปอีก 2 สัปดาห์

ในครั้งนี้มียาด้วย หน้าตาเป็นแบบนี้ ทานหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น มื้อละเม็ด

ค่าตรวจในวันนี้ 2,400 เยน 

หลังตรวจเสร็จรู้สึกจิตตกเล็กน้อย กังวลเกี่ยวกับแบคทีเรียที่ว่านี้ ก็เลยให้คุณซูช่วยหาข้อมูลของที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะเราลองหาข้อมูลของไทย มีบางคนโพสต์ไว้ รู้สึกน่ากลัวจัง แต่คุณซูบอกว่าไม่ต้องไปเครียดกับมัน เพราะมันก็คือแบคทีเรียธรรมดา ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายคนอยู่แล้ว   จากนั้นเราก็ให้คุณซูฟังที่เราอัดเสียงคุยกับคุณหมอในครั้งนี้ คุณซูก็บอกอีกว่าข้อมูลที่หาจากทางเว็บกับที่คุณหมอบอกมาเหมือนกัน ไม่ต้องเครียด ๆ เอาอย่างนี้มั้ย ให้เราเป็นเพื่อนกับแบคทีเรียตัวนี้ให้มากขึ้น คือทำความสะอาดห้องน้ำให้น้อยลง เล่นกับหมากับแมว (ปกติเราไม่ค่อยชอบอยู่ใกล้หมากับแมวเท่าไหร่) ดูคุณซูพูดเข้าสิ ฮาดี  ก็รู้สึกดีขึ้นนะ เพราะถ้าเครียดไปก็ส่งผลไม่ดีกับทารกเปล่า ๆ 

อาการในช่วงนี้ :

- หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า ขาเคยเป็นตะคริว 2 ครั้ง แต่ช่วงนี้ไม่เป็นหละ

- เจ้าหนูน้อยในท้องนี่ดิ้นแรงขึ้น แล้วก็บ่อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงเย็น ๆ บางครั้งรู้สึกเหมือนกับอวัยวะอาจจะเป็นส่วนแขนหรือขา ถูกับภายในท้องเราด้วย