วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปอบรมคอร์สคุณแม่ของโรงพยาบาลครั้งที่ 2 (อาการผิดปกติในขณะตั้งครรภ์, อาหาร, กายบริหาร)

คอร์สคุณแม่ของโรงพยาบาลครั้งที่ 2 นี้จะสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 6-7 เดือน (นับแบบญี่ปุ่น)
เนื้อหาในครั้งนี้จะพูดถึงเรื่องอาการผิดปกติในขณะตั้งครรภ์  อาหารในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาส 2  อาหารตอนที่ให้นมลูก  และการบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอด


อาการที่ผิดปกติจะเน้นเรื่องการปวดท้อง ถ้าใน 1 วันปวด 2-3 ครั้งก็ถือว่าไม่เป็นไร ให้พัก แต่ถ้าใน 1 ชั่วโมง ปวด 2-3 ครั้งนี่ถือว่าไม่ดีให้ไปโรงพยาบาล


สำหรับในเรื่องอาหารในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้จะเน้นธาตุเหล็ก และแคลเซียม และก็ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้ครบ 3 มื้อ ใน 1 วัน


ส่วนในช่วงให้นมลูก อาหารที่ทำให้เลือดของแม่ไม่ข้นมาก ไหลดี จะมีพวกผัก พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ สาหร่าย สารอาหารที่มี DHA. EPA
และผักนั้นควรที่จะทานในตอนเช้า และกลางวัน ไม่ควรที่จะทานตอนเย็น เพราะจะทำให้ร่างกายเย็น
และก็มีผักที่ทำให้ร่ายกายอุ่น เช่น กระเทียม หอม หัวไช้เท้า ขิง เป็นต้น


และสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการจะควบคุมในเรื่องของอาหาร อยากให้น้ำหนักกลับมาเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่แนะนำให้คิดเรื่องนี้หลังจากที่คลอดไปแล้ว 3 สัปดาห์


สำหรับการบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอดจะคล้าย ๆ ของที่สำนักงานเขตเลย (ตามลิ้งค์)
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/3.html


สิ่งที่เอาไปด้วยในวันนี้
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน
3. เอกสารที่ทางโรงพยาบาลแจกมาในครั้งแรก







วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมแม่ของสำนักงานเขต ครั้งที่ 3 (พูดเกี่ยวกับฟัน และสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น)

ในครั้งที่ 3 นี้จะอบรมช่วงบ่าย ครั้งนี้ครึ่งแรกจะพูดถึงเรื่องการฟัน  ส่วนครึ่งหลังจะเป็นการสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น


เนื้อหาที่พูดถึงในช่วงแรก


ปัญหาเกี่ยวกับฟันที่จะเกิดขึ้นเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์  เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เป็นโรคปริทันต์ (โรคเหงือกอักเสบ) เพิ่มง่ายขึ้น นอกจากสาเหตุที่ว่าแล้ว ช่วงที่แพ้ท้อง หรือช่วงที่การทานอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้การดูแลช่องปากเป็นไปได้ยากขึ้น


ปัญหาเกี่ยวกับฟันที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดและช่วงเลี้ยงลูก  หลังจากที่คลอดลูกแล้ว คงไม่มีเวลาพอที่การดูแลฟันของตัวเอง และคงไม่มีเวลาพอที่จะไปหาหมอฟัน ก็จะทำให้ฟันของแม่นั้นผุได้ง่าย เมื่อฟันของแม่ผุ ก็จะส่งผลไปถึงลูกด้วย


ซึ่งจริงๆ แล้ว การดูแลฟันของแม่เป็นยังไงตั้งแต่ตั้งท้อง ก็มีผลต่อฟันของลูกตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์แล้ว เพราะฟันของทารกในครรภ์เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ตอนที่อายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ ดังนั้นคุณแม่จะต้องดูแลฟันของตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง หลังอาหารและก่อนนอนควรแปรงฟัน  ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  ในการทานอาหารควรที่จะค่อย ๆ เคี้ยว


ฟันของเด็กจะขึ้นเมื่อไหร่นั้น ไม่ต้องสนใจว่าขึ้นช้าหรือเร็ว เพราะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย แต่ถ้าฟันขึ้นช้ามากให้ไปปรึกษาแพทย์




หลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้ว ช่วงที่ทำให้ฟันผุถ่ายทอดไปยังเด็กได้ง่ายก็คือช่วงที่เด็กอายุ 19 เดือน - 31 เดือน อย่างตอนที่เราจะป้อนอาหารให้เด็ก หรือก่อนที่จะให้เด็กทานอะไร พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงก็อาจจะเอาเข้าปากของตัวเองก่อน เป่าให้หายร้อน แล้วค่อยให้เด็กทาน  ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้แหละ จะเป็นการถ่ายทอดฟันผุของคน ๆ นั้น ให้กับเด็ก


สารอาหารที่จำเป็นต่อฟันจะมี โปรตีน วิตามิน A,C,D  แคลเซียม


การดูแลฟันของเด็กตั้งแต่ที่เริ่มมีฟัน - 1 ขวบครึ่ง ก็คือการแปรงฟันให้เด็กโดยเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กอ่อน และพออายุครบ 1.5 ขวบแล้วก็พาไปตรวจฟัน


เนื้อหาที่พูดถึงในช่วงหลัง จะเป็นการสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น
ที่ญี่ปุ่นจะเน้นให้คลอดเอง จะไม่นิยมผ่าคลอด นอกจากกรณีพิเศษจริง ๆ เพราะฉะนั้นท่าที่สอนในวันนี้จะเป็นท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น
ท่าขัดสมาธิ


 ท่าตั้งเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง แล้วยกก้นขึ้นแล้วลง




ท่ายกเข่าทั้ง 2 ขี้น แล้วก็เอียงวางกับพื้นข้างละ 5 - 10 ครั้ง พอทำเสร็จด้านนึง ก็ให้ทำแบบเดียวกันอีกด้านหนึ่ง


 ท่ายกเข่าข้างใดข้างหนึ่งขึ้น แล้ววางราบกับพื้นประมาณ 5 - 10 ครั้ง พอทำเสร็จด้านนึง ก็ให้ทำแบบเดียวกันอีกด้านหนึ่ง





ท่าแมว (รูปกลับด้านไปหน่อย) สูดหายใจเข้าแล้วก้มหน้า ให้หลังโก่ง ๆ แล้วก็เงยหน้าขึ้นพร้อมกับปล่อยลมหายใจออก ประมาณ 10 ครั้ง






ท่านอนที่ช่วยให้ผ่อนคลาย (รูปกลับหัวไปหน่อย) แล้วแต่ว่าคุณแม่ตะแคงนอนด้านไหนแล้วทำให้รู้สึกดี ก็นอนด้านนั้น



เนื้อหาวันนี้ก็ประมาณนี้ค่ะ

สิ่งที่ต้องนำไปในวันอบรม
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน










วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

โรคแพ้เกสรดอกไม้ที่มาพร้อมกับฤดูใบไม้ผลิ

เราเริ่มรู้สึกว่าช่วงกลางวันจะนานขึ้น สังเกตได้จากพระอาทิตย์ตกช้าลง ซึ่งก็เป็นการดี เพราะจะได้อุ่นขึ้น แต่เรากลับรู้สึกว่าไม่เห็นจะอุ่นขึ้นเลย อย่างดูพยากรณ์ช่วงอาทิตย์นี้ อุณหภูมิก็ยังคล้าย ๆ กับช่วงหน้าหนาวอ่ะ มีสูงบ้างก็แค่เล็กน้อย
แต่ว่าคุณซูไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ เพราะพอเข้าฤดูนี้ก็จะเป็นโรคแพ้เกสรดอกไม้ (คะฟุงโช) ซึ่งเราว่าอีกหน่อยเราก็คงจะเป็น เพราะเห็นคนไทยคนอื่น ๆที่มาอยู่นาน ๆ  ก็เป็นกัน ดูจากคุณซูแล้ว รู้สึกทรมานเหมือนกัน
อาการคือ
จามบ่อย มีน้ำมูกตลอด
คันตา
หายใจลำบาก

ช่วงนี้ก็เลยเปลี่ยนจากทิชชูที่เคยใช้ เป็น โลชั่นทิชชู




ซื้อยาหยอดตาสำหรับโรคภูมิแพ้มาใช้



ซื้อตัวนี้มาแปะที่จมูกตอนนอนเพราะช่วยลดการคัดจมูก




ซื้อยาลดน้ำมูก ลดการจาม (เป็นยากลุ่มสำหรับโพรงจมูกอักเสบ) (รูปกลับด้านไปหน่อย)




ดมยาดมที่เราซื้อมาจากไทย
บ้วนปากทุกครั้งหลังจากกลับมาจากข้างนอก






ช่วงนี้ถึงอากาศจะดีมาก ๆ แดดออก ก็จะต้องตากผ้าในบ้าน เพราะกลัวละอองเกสรปลิวมาติดที่เสื้อ
เดี๋ยวคุณซูกะว่าถ้าไม่ดีขึ้นก็คงต้องไปหาหมอ
ก็ขอให้หายเร็ว ๆ นะ





วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 5 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้มีนัดตรวจครรภ์ (อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ กว่า ๆ )
พอไปถึงเคาน์เตอร์ ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก แล้วก็สมุดช่วยค่าตรวจ  จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะขอบัตรประกันสุขภาพ เพราะว่าเป็นการมาตรวจในเดือนใหม่
ขั้นตอนจากนั้นก็เหมือนเดิมคือ ไปเก็บปัสสาวะ แล้วก็วัดความดัน (ลืมบอกไปว่าที่ญี่ปุ่นจะให้เราความความดันเอง จะมีเครื่องวางอยู่แถว ๆ นั้น วัดเสร็จก็เอากระดาษที่ปริ้นท์ออกมายื่นให้พนักงาน)
จากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ ระหว่างที่รอคุณหมอ (คุณหมอมีธุระที่ชั้น 2) นอนรอไปรอมา เริ่มปวดหลัง จริงๆ พยาบาลก็บอกให้นอนท่าสบาย ๆ แต่เราขี้เกียจพลิกไปพลิกมาเอง แหะ ๆ
พอคุณหมอมาถึงก็อัลตราซาวด์ดู ดูหลายมุม หลายด้านที่คุณหมอให้ดู  เจ้าหนูโตกว่าครั้งที่แล้วเยอะเชียว คุณหมอก็พูดว่า ครั้งต่อไปภาพถ่ายที่จะให้คงเห็นไม่เต็มตัวแล้ว เพราะเด็กจะโตขึ้นมาก
แล้วคุณหมอก็ให้ฟังเสียงหัวใจ เต้นแข็งแรงดี น้ำหนักของเจ้าหนูตอนนี้ก็ 398 กรัม คุณหมอไม่ได้พูดว่าตัวเล็กไปหรือใหญ่ไป แต่คุณหมอเตือนเราเรื่องน้ำหนักของแม่ เพราะจากครั้งที่แล้วที่มาตรวจ ผ่านไป 1 เดือน ขึ้นมาถึง 2.5 กิโล โดนคุณหมอให้ควบคุมน้ำหนัก (น้ำหนักก่อนท้องจนถึงตอนนี้ขึ้นมา 6.5 กิโล)
พอซาวด์เสร็จ เราก็มาปรึกษาคุณหมอเรื่องการตรวจฟันช่วงนี้ เพราะเริ่ม ๆ ปวดหน่อย ๆ เคยอ่านเจอว่าถ้าจะตรวจฟันให้ทำได้ประมาณช่วงอายุครรภ์ช่วงนี้ แต่คุณหมอที่นี่กลับไม่แนะนำให้ไปตรวจอ่ะ (ถ้าเป็นไปได้) เพราะเคยมีเคสที่ว่ามีคนไปตรวจที่คลินิคที่หนึ่งหลังจากนั้นก็ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าจะไปตรวจกับคลีนิคที่ผู้หญิงคนนั้นไปตรวจด้วยแล้ว คุณหมอยิ่งไม่แนะนำเลย
สรุปเราก็เลยไม่ไปตรวจฟันแหละ รักษาความสะอาดของฟันให้บ่อยขึ้นแทน
ก็เป็นอันเสร็จการตรวจครรภ์วันนี้ ค่าตรวจ 1,820 เยน
แล้วนัดครั้งต่อไปก็อีก 4 สัปดาห์


อ้อเราลืมบอกไปว่าตอนที่ไปตรวจครั้งที่ 4 เราก็ปรึกษาคุณหมอเรื่องเจาะน้ำคร่ำ คุณหมอไม่แนะนำอ่ะ เพราะอะไรเราก็ฟังไม่ค่อยทันเหมือนกัน ก็เลยถามคุณซูเพื่อความชัวร์ว่า คุณหมอไม่แนะนำใช่มั้ยแล้วคุณหมอพูดว่าอะไร  คุณซูก็บอกว่าใช่แล้วก็อธิบายมา ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่าทำไม แล้วอีกอย่างคุณซูก็ไม่อยากให้เจาะด้วย ก็เลยไม่ได้เจาะ





วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของสำนักงานเขตครั้งที่ 2 (พูดเรื่องอาหารที่ควรทานใน 1 วัน)

ครั้งที่ 2 ก็ยังคงนั่งเป็นกลุ่ม ๆ แต่ไม่ค่อยให้พูดเหมือนครั้งที่แล้ว ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพูดถึงเรื่องของปริมาณอาหารที่จำเป็นในช่วงของการตั้งครรภ์ เอกสารที่ได้รับมาในครั้งนี้เยอะมาก จะบอกถึงว่าใน 1 วัน ควรทานอะไร ปริมาณกี่กรัม ถ้าทำได้อย่างที่เอกสารเขียนเราว่าก็ดีอ่ะนะ แต่เราคงทำไม่ได้แหง ๆ เลยคงเอาไว้มาดูอ้างอิงแล้วกัน
เริ่มจากการคำนวณหาพลังงาน (กิโลแคลอรี่) ปริมาณอาหารใน 1 วันที่จำเป็นต่อตัวเรา โดยวิธีคำนวณก็คือ
ขั้นตอนที่ 1  เอา ส่วนสูง (เมตร) * ส่วนสูง (เมตร) * 22  = น้ำหนักมาตรฐานของเรา


ขั้นตอนที่ 2  ให้นำน้ำหนักมาตรฐานของเรา * ค่ามาตรฐาน * ค่าระดับกิจกรรมประจำวัน = ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์
หมายเหตุของขั้นตอนที่ 2 ค่ามาตรฐาน ดูได้จาก ถ้าอายุ 18-29 ปี จะใช้ตัวเลข 22.1 มาคำนวณ,  แต่ถ้าอายุ 30-49 ปี จะใช้ตัวเลข 21.7 มาคำนวณ
ส่วนค่าระดับกิจกรรมประจำวัน ดูได้จาก ถ้ากิจกรรมประวันเป็นแม่บ้าน ทั้งวันจะนั่งเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ตัวเลข 1.3 มาคำนวณ
ถ้ากิจกรรมประจำวันมีเดินบ้าง ทำงาน ยืน ๆ จะใช้ตัวเลข 1.5 มาคำนวณ
และถ้ากิจกรรมประจำวัน ทั้งวันจะยืนเป็นส่วนใหญ่ ใน 1 ชั่วโมงทำงานหนัก จะใช้ตัวเลข 1.7 มาคำนวณ


ขั้นตอนที่ 3 ถ้าช่วงตั้งครรภ์ ให้นำปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ มาบวกกับตัวเลขต่อไปนี้ตามช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก ให้บวกเพิ่ม 50 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง ให้บวกเพิ่ม 250 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม ให้บวกเพิ่ม 450 กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก ให้บวกเพิ่ม 350 กิโลแคลอรี่


ตัวอย่างสมมุติว่าเราสูง 1.63 เมตร อายุ 30 ปี เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่จะนั่ง  ถ้าคำนวณตามข้างบนจะได้
ขั้นตอนที่ 1  =>   1.63 * 1.63 * 22 = 58.45
ขั้นตอนที่ 2  =>   58.45 * 21.7 * 1.3 =  1,648.87 กิโลแคลอรี่ ซึ่งจะเป็นปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก่อนตั้งครรภ์
ขั้นตอนที่ 3 => ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก 1,648.87+ 50 กิโลแคลอรี่  = 1,698.87 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง  1,648.87 + 250 กิโลแคลอรี่ =  1,898.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม  1,648.87 + 450 กิโลแคลอรี่ =  2,098.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก  1,648.87 +  350 กิโลแคลอรี่ = 1,998.87  กิโลแคลอรี่


จากวิธีคำนวณที่ว่ามา จริง ๆ เราก็ไม่ได้ดูละเอียดมากขนาดนี้ เพียงแต่รู้แค่เพียงว่า ที่ญี่ปุ่นเขาดูกันเป็นกรัม ๆ เป็นกิโลแคลอรี่กันเลย สุดยอดมาก ๆ
มิน่าถึงไม่ค่อยมีคุณแม่คนไหนที่อ้วนเลย (เท่าที่เห็นนะ)


ส่วนเรื่องน้ำหนักว่าควรขึ้นเท่าไหร่ ก็มีให้คำนวณด้วยนะ
คือเราจะต้องรู้ค่า BMI ของเราก่อน ซึ่งคำนวณได้จาก น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์  (กิโล) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) แล้วหารด้วยส่วนสูง (เมตร)
ยกตัวอย่าง น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์เรา 56 กิโล ส่วนสูง 1.63 เมตร
ค่า BMI = 56/1.63/1.63 = 21.077
ซึ่งถ้าค่า BMI อยู่ในช่วง 18.5 - 24.9 ถือว่าปกติ น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 7-12 กิโล
ถ้าค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไป ถือว่าอ้วน น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์ควรประมาณ 5  กิโล
ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5  ถือว่าผอม น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 9-12 กิโล
และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ลดให้เหลือเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์หลังจากที่คลอดแล้วประมาณ 6 เดือน


ก็คงเป็นเกร็ดความรู้ใหม่สำหรับเรา แต่เราจะทำได้ตามหรือเปล่านี่อีกเรื่องนึง 555


สิ่งที่ต้องนำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน