วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

โรคแพ้เกสรดอกไม้ที่มาพร้อมกับฤดูใบไม้ผลิ

เราเริ่มรู้สึกว่าช่วงกลางวันจะนานขึ้น สังเกตได้จากพระอาทิตย์ตกช้าลง ซึ่งก็เป็นการดี เพราะจะได้อุ่นขึ้น แต่เรากลับรู้สึกว่าไม่เห็นจะอุ่นขึ้นเลย อย่างดูพยากรณ์ช่วงอาทิตย์นี้ อุณหภูมิก็ยังคล้าย ๆ กับช่วงหน้าหนาวอ่ะ มีสูงบ้างก็แค่เล็กน้อย
แต่ว่าคุณซูไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ เพราะพอเข้าฤดูนี้ก็จะเป็นโรคแพ้เกสรดอกไม้ (คะฟุงโช) ซึ่งเราว่าอีกหน่อยเราก็คงจะเป็น เพราะเห็นคนไทยคนอื่น ๆที่มาอยู่นาน ๆ  ก็เป็นกัน ดูจากคุณซูแล้ว รู้สึกทรมานเหมือนกัน
อาการคือ
จามบ่อย มีน้ำมูกตลอด
คันตา
หายใจลำบาก

ช่วงนี้ก็เลยเปลี่ยนจากทิชชูที่เคยใช้ เป็น โลชั่นทิชชู




ซื้อยาหยอดตาสำหรับโรคภูมิแพ้มาใช้



ซื้อตัวนี้มาแปะที่จมูกตอนนอนเพราะช่วยลดการคัดจมูก




ซื้อยาลดน้ำมูก ลดการจาม (เป็นยากลุ่มสำหรับโพรงจมูกอักเสบ) (รูปกลับด้านไปหน่อย)




ดมยาดมที่เราซื้อมาจากไทย
บ้วนปากทุกครั้งหลังจากกลับมาจากข้างนอก






ช่วงนี้ถึงอากาศจะดีมาก ๆ แดดออก ก็จะต้องตากผ้าในบ้าน เพราะกลัวละอองเกสรปลิวมาติดที่เสื้อ
เดี๋ยวคุณซูกะว่าถ้าไม่ดีขึ้นก็คงต้องไปหาหมอ
ก็ขอให้หายเร็ว ๆ นะ





วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 5 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้มีนัดตรวจครรภ์ (อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ กว่า ๆ )
พอไปถึงเคาน์เตอร์ ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก แล้วก็สมุดช่วยค่าตรวจ  จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะขอบัตรประกันสุขภาพ เพราะว่าเป็นการมาตรวจในเดือนใหม่
ขั้นตอนจากนั้นก็เหมือนเดิมคือ ไปเก็บปัสสาวะ แล้วก็วัดความดัน (ลืมบอกไปว่าที่ญี่ปุ่นจะให้เราความความดันเอง จะมีเครื่องวางอยู่แถว ๆ นั้น วัดเสร็จก็เอากระดาษที่ปริ้นท์ออกมายื่นให้พนักงาน)
จากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ ระหว่างที่รอคุณหมอ (คุณหมอมีธุระที่ชั้น 2) นอนรอไปรอมา เริ่มปวดหลัง จริงๆ พยาบาลก็บอกให้นอนท่าสบาย ๆ แต่เราขี้เกียจพลิกไปพลิกมาเอง แหะ ๆ
พอคุณหมอมาถึงก็อัลตราซาวด์ดู ดูหลายมุม หลายด้านที่คุณหมอให้ดู  เจ้าหนูโตกว่าครั้งที่แล้วเยอะเชียว คุณหมอก็พูดว่า ครั้งต่อไปภาพถ่ายที่จะให้คงเห็นไม่เต็มตัวแล้ว เพราะเด็กจะโตขึ้นมาก
แล้วคุณหมอก็ให้ฟังเสียงหัวใจ เต้นแข็งแรงดี น้ำหนักของเจ้าหนูตอนนี้ก็ 398 กรัม คุณหมอไม่ได้พูดว่าตัวเล็กไปหรือใหญ่ไป แต่คุณหมอเตือนเราเรื่องน้ำหนักของแม่ เพราะจากครั้งที่แล้วที่มาตรวจ ผ่านไป 1 เดือน ขึ้นมาถึง 2.5 กิโล โดนคุณหมอให้ควบคุมน้ำหนัก (น้ำหนักก่อนท้องจนถึงตอนนี้ขึ้นมา 6.5 กิโล)
พอซาวด์เสร็จ เราก็มาปรึกษาคุณหมอเรื่องการตรวจฟันช่วงนี้ เพราะเริ่ม ๆ ปวดหน่อย ๆ เคยอ่านเจอว่าถ้าจะตรวจฟันให้ทำได้ประมาณช่วงอายุครรภ์ช่วงนี้ แต่คุณหมอที่นี่กลับไม่แนะนำให้ไปตรวจอ่ะ (ถ้าเป็นไปได้) เพราะเคยมีเคสที่ว่ามีคนไปตรวจที่คลินิคที่หนึ่งหลังจากนั้นก็ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าจะไปตรวจกับคลีนิคที่ผู้หญิงคนนั้นไปตรวจด้วยแล้ว คุณหมอยิ่งไม่แนะนำเลย
สรุปเราก็เลยไม่ไปตรวจฟันแหละ รักษาความสะอาดของฟันให้บ่อยขึ้นแทน
ก็เป็นอันเสร็จการตรวจครรภ์วันนี้ ค่าตรวจ 1,820 เยน
แล้วนัดครั้งต่อไปก็อีก 4 สัปดาห์


อ้อเราลืมบอกไปว่าตอนที่ไปตรวจครั้งที่ 4 เราก็ปรึกษาคุณหมอเรื่องเจาะน้ำคร่ำ คุณหมอไม่แนะนำอ่ะ เพราะอะไรเราก็ฟังไม่ค่อยทันเหมือนกัน ก็เลยถามคุณซูเพื่อความชัวร์ว่า คุณหมอไม่แนะนำใช่มั้ยแล้วคุณหมอพูดว่าอะไร  คุณซูก็บอกว่าใช่แล้วก็อธิบายมา ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่าทำไม แล้วอีกอย่างคุณซูก็ไม่อยากให้เจาะด้วย ก็เลยไม่ได้เจาะ





วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของสำนักงานเขตครั้งที่ 2 (พูดเรื่องอาหารที่ควรทานใน 1 วัน)

ครั้งที่ 2 ก็ยังคงนั่งเป็นกลุ่ม ๆ แต่ไม่ค่อยให้พูดเหมือนครั้งที่แล้ว ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพูดถึงเรื่องของปริมาณอาหารที่จำเป็นในช่วงของการตั้งครรภ์ เอกสารที่ได้รับมาในครั้งนี้เยอะมาก จะบอกถึงว่าใน 1 วัน ควรทานอะไร ปริมาณกี่กรัม ถ้าทำได้อย่างที่เอกสารเขียนเราว่าก็ดีอ่ะนะ แต่เราคงทำไม่ได้แหง ๆ เลยคงเอาไว้มาดูอ้างอิงแล้วกัน
เริ่มจากการคำนวณหาพลังงาน (กิโลแคลอรี่) ปริมาณอาหารใน 1 วันที่จำเป็นต่อตัวเรา โดยวิธีคำนวณก็คือ
ขั้นตอนที่ 1  เอา ส่วนสูง (เมตร) * ส่วนสูง (เมตร) * 22  = น้ำหนักมาตรฐานของเรา


ขั้นตอนที่ 2  ให้นำน้ำหนักมาตรฐานของเรา * ค่ามาตรฐาน * ค่าระดับกิจกรรมประจำวัน = ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์
หมายเหตุของขั้นตอนที่ 2 ค่ามาตรฐาน ดูได้จาก ถ้าอายุ 18-29 ปี จะใช้ตัวเลข 22.1 มาคำนวณ,  แต่ถ้าอายุ 30-49 ปี จะใช้ตัวเลข 21.7 มาคำนวณ
ส่วนค่าระดับกิจกรรมประจำวัน ดูได้จาก ถ้ากิจกรรมประวันเป็นแม่บ้าน ทั้งวันจะนั่งเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ตัวเลข 1.3 มาคำนวณ
ถ้ากิจกรรมประจำวันมีเดินบ้าง ทำงาน ยืน ๆ จะใช้ตัวเลข 1.5 มาคำนวณ
และถ้ากิจกรรมประจำวัน ทั้งวันจะยืนเป็นส่วนใหญ่ ใน 1 ชั่วโมงทำงานหนัก จะใช้ตัวเลข 1.7 มาคำนวณ


ขั้นตอนที่ 3 ถ้าช่วงตั้งครรภ์ ให้นำปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ มาบวกกับตัวเลขต่อไปนี้ตามช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก ให้บวกเพิ่ม 50 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง ให้บวกเพิ่ม 250 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม ให้บวกเพิ่ม 450 กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก ให้บวกเพิ่ม 350 กิโลแคลอรี่


ตัวอย่างสมมุติว่าเราสูง 1.63 เมตร อายุ 30 ปี เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่จะนั่ง  ถ้าคำนวณตามข้างบนจะได้
ขั้นตอนที่ 1  =>   1.63 * 1.63 * 22 = 58.45
ขั้นตอนที่ 2  =>   58.45 * 21.7 * 1.3 =  1,648.87 กิโลแคลอรี่ ซึ่งจะเป็นปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก่อนตั้งครรภ์
ขั้นตอนที่ 3 => ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก 1,648.87+ 50 กิโลแคลอรี่  = 1,698.87 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง  1,648.87 + 250 กิโลแคลอรี่ =  1,898.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม  1,648.87 + 450 กิโลแคลอรี่ =  2,098.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก  1,648.87 +  350 กิโลแคลอรี่ = 1,998.87  กิโลแคลอรี่


จากวิธีคำนวณที่ว่ามา จริง ๆ เราก็ไม่ได้ดูละเอียดมากขนาดนี้ เพียงแต่รู้แค่เพียงว่า ที่ญี่ปุ่นเขาดูกันเป็นกรัม ๆ เป็นกิโลแคลอรี่กันเลย สุดยอดมาก ๆ
มิน่าถึงไม่ค่อยมีคุณแม่คนไหนที่อ้วนเลย (เท่าที่เห็นนะ)


ส่วนเรื่องน้ำหนักว่าควรขึ้นเท่าไหร่ ก็มีให้คำนวณด้วยนะ
คือเราจะต้องรู้ค่า BMI ของเราก่อน ซึ่งคำนวณได้จาก น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์  (กิโล) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) แล้วหารด้วยส่วนสูง (เมตร)
ยกตัวอย่าง น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์เรา 56 กิโล ส่วนสูง 1.63 เมตร
ค่า BMI = 56/1.63/1.63 = 21.077
ซึ่งถ้าค่า BMI อยู่ในช่วง 18.5 - 24.9 ถือว่าปกติ น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 7-12 กิโล
ถ้าค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไป ถือว่าอ้วน น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์ควรประมาณ 5  กิโล
ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5  ถือว่าผอม น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 9-12 กิโล
และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ลดให้เหลือเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์หลังจากที่คลอดแล้วประมาณ 6 เดือน


ก็คงเป็นเกร็ดความรู้ใหม่สำหรับเรา แต่เราจะทำได้ตามหรือเปล่านี่อีกเรื่องนึง 555


สิ่งที่ต้องนำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน

















วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปศาลเจ้า Suitengu (水天宮) ขอพรให้คลอดปลอดภัย

ทางบ้านคุณพ่อคุณแม่ของคุณซูจะพาพวกเราไปไหว้ขอพรให้คลอดปลอดภัยที่ ศาลเจ้า Suitengu (水天宮)ในวันที่ 8 ก.พ. แต่วันนั้นพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีหิมะตกก็เลยเลื่อนออกไป ซึ่งวันนั้นหิมะตกหนักมาก ๆ ในรอบ 13 ปี (ของโตเกียว) ก็เลยเลื่อนมาเป็นวันนี้แทน (22 ก.พ.)
ที่เลือกวันนี้เพราะดูปฏิทินเขียนว่าเป็นวัน 大安 ถือว่าเป็นวันดี
พอไปถึงคนเยอะมาก มีทั้งที่กำลังท้อง แล้วก็มีทั้งที่อุ้มลูกมา เพราะที่ศาลเจ้านี้จะขึ้นชื่อในเรื่องของการมาขอพรให้คลอดปลอดภัย และพอคลอดแล้วก็จะพามาขอบคุณ
ขั้นตอนแรกพวกเราก็จะไปที่โต๊ะสำหรับเขียน จะมีกระดาษให้เขียนอยู่ 2 แบบ ของเราเป็นแบบขอพรให้คลอดปลอดภัย ก็จะมีเขียนชื่อตัวเอง แล้วก็เลือกชุดที่ต้องการจะซื้อ เราก็จำรายละเอียดไม่ได้แล้วว่าชุดไหนเท่าไหร่ เพราะเราเลือกที่มีผ้าคาดด้วย (เต็มชุด) ของก็จะได้ประมาณรูปด้านล่างค่ะ
(ขอบคุณรูปจาก Google นะคะ)


แล้วก็เข้าคิวยื่นกระดาษใบนี้ให้เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะให้ของชุดนั้นมาให้เรา แล้วก็เขียนชื่อเราลงในกระดาษ ซึ่งกระดาษนี้จะนำไปทำพิธี รวม ๆ ทั้งหมดก็ 9,000 เยน
พอถึงเวลาทำพิธีรอบของเรา ก็เข้าแถวแล้วก็เข้าไปในห้องทำพิธี คุณซูก็เข้าไปด้วย เขาจะมีแจกกล่องเหล้าของเทพเจ้าด้วย นอกจากเราแล้วก็จะมีคนที่ท้องคนอื่น ๆ กับสามีเขาเข้าไปด้วย
ในพิธี ผู้ทำพิธีผู้ชาย (เราก็ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร) ก็จะทำพิธี  แล้วเจ้าหน้าที่ผู้หญิงในห้อง ก็จะบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ช่วงนี้ให้ก้มหน้าทำความเคารพ ขอพร ช่วงนี้ทำอย่างนี้ ในระหว่างพิธีผู้ทำพิธีมีอ่านชื่อของคนที่ท้อง มีชื่อเราด้วย คิดว่าน่าจะเป็นการขอพรเทพเจ้าให้กับพวกเราอ่ะนะ ได้ยินชื่อตัวเองแล้วรู้สึกดีจัง
พอพิธีเสร็จก็มีให้แสดงความเคารพ เราก็อาศัยมองคนข้าง ๆ ว่าเคารพกี่ที ตบมือกี่ครั้งช่วงไหน
สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เวปนี้นะคะ
http://www.suitengu.or.jp/honour/index.html
หลังจากกลับมาบ้านแล้ว เราก็นำเครื่องรางที่มีสีแดงคาดตรงกลางมาวางไว้บนที่สูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ส่วนเครื่องรางที่มีเชือกห้อย ก็เก็บไว้ในกระเป๋าพร้อมกับสมุดสุขภาพแม่และเด็ก
ส่วนที่เป็นผ้าคาด ก็นำมาคาดท้องในวัน Inu no hi



วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังอบรมคอร์สคุณแม่ของทางสำนักงานเขต ครั้งที่ 1 (รกในครรภ์)

ที่สำนักงานเขตเขาก็มีอบรมคอร์สคุณแม่ฟรีเหมือนกัน มีทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งก็ต้องโทรไปจองคอร์สเหมือนกัน
เขาจะจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งก็คือจะให้มีการคุยกันในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรื่องของตัวเอง ฟังเรื่องของคนอื่น แล้วก็พูดให้กลุ่มอื่นฟังว่าเรื่องของคนกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง เราเป็นคนต่างชาติคนเดียวในนั้น รู้สึกแปลก ๆ แต่ก็ถือว่ามาฟังเพื่อประโยชน์ของตัวเองอ่ะนะ
แล้วก็จากที่เราเป็นคนต่างชาติ ก็โชคดีไปที่ไม่ต้องเขียนสรุป แล้วก็ไม่ต้องเป็นตัวแทนพูดของกลุ่ม อิอิ
อย่างครั้งแรกนี้จะให้แนะนำตัวเอง บอกถึงเรื่องที่เราลำบากตอนท้องให้กับแม่ ๆ ในกลุ่มฟัง  แล้วเราก็ฟังแม่ ๆ ในกลุ่มพูดว่าลำบากอะไร ส่วนใหญ่จะก็เป็นเรื่องของการแพ้ท้อง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะพูดเรื่อง "รกในครรภ์" ว่า
1.ทารกจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดของแม่ และทิ้งคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอย่างยูเรียโดยผ่านทางรก พูดง่าย ๆ ก็คือรกจะเป็นตัวฟิวเตอร์นั้นเอง เพราะของเสียที่ว่าจะส่งกลับไปที่เลือดของแม่โดยผ่านรก และท้ายสุดไตของแม่จะก็เป็นผู้จัดการ
2. รกจะไม่นำของเสียที่มีอยู่ในเลือดของแม่ไปสู่ทารก ยกเว้นแต่แอลกอฮอล์กับสารนิโคติน ทั้ง 2 ตัวนี้จะผ่านรกเข้าสู่ทารกได้


ครั้งที่ 1 ของทางสำนักงานเขตก็จะพูดประมาณเท่านี้


และสิ่งที่จะต้องนำไปด้วยก็มี
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก เพราะจะมีปั้มวันที่ที่เข้าอบรมลงในสมุดด้วย
2. อุปกรณ์การเขียน