วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ในช่วงของการตั้งครรภ์แรก ๆ เรื่องที่ทำได้ และเรื่องที่ทำไม่ได้ - บุหรี่ เหล้า, ของกิน, เครื่องดื่ม

ไปอ่านเจอนิตยสารเล่มนึงของญี่ปุ่นที่รวบรวมเกี่ยวกับช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ว่าเรื่องไหนทำได้ เรื่องไหนทำไม่ได้
ในนิตยสารก็จะแบ่งเป็นหัวข้อ ๆ ซึ่งหัวข้อที่เราจะขออัพก่อนก็จะมี บุหรี่ เหล้า, ของกิน, เครื่องดื่ม
โดยขอแสดงเป็นเครื่องหมาย
○  ทำได้ OK
△ ทำได้แต่ให้ระมัดระวังในเรื่องของปริมาณ ฯลฯ
× ทำไม่ได้  NG


-บุหรี่ เหล้า :
1. บุหรี่ ×
2. เหล้า ×
3. เหล้าที่ใช้ในการทำอาหาร  △
4. เบียร์ แอลกอฮอล์ 0.0 %  △ แต่ระวังเรื่องของน้ำตาล

-ของกิน :
1. ปลาดิบ (Sashimi, Sushi) △ ทานได้แต่ให้ระวังเรื่องปริมาณ เพราะอย่าง Maguro อาจจะมีพวกสารปรอทอยู่  และปลาอื่น ๆ ถ้ายังดิบ ๆ อยู่อาจจะมีแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ เพราะฉะนั้นให้ระวังในเรื่องของปริมาณที่ทาน
2. ปลาไหล △ เนื่องจากมีวิตามิน A รวมอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ให้ระวังเป็นพิเศษ ใน 1 วันกำหนดทานที่ประมาณ 40-50 กรัม
3. หอย ○ แต่ทางที่ดีควรทานที่ผ่านการปรุงให้สุกแล้วจะดีที่สุด
4. ตับ △ เนื่องจากมีวิตามิน A รวมอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ให้ระวังเป็นพิเศษ ตับหมู ตับไก่ใน 1 วันกำหนดทานที่ประมาณ 4 กรัม  ส่วนตับวัวใน 1 วันกำหนดทานที่ประมาณ 50 กรัม 
5. เนื้อม้าดิบ แฮมดิบ △ ทานเป็นบางครั้งได้ แต่ควรที่จะปรุงให้สุกจะดีที่สุด และเนื่องจากมีวิตามิน A รวมอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ให้ระวังเป็นพิเศษใน 1 วัน วันกำหนดทานที่ประมาณ 50 กรัม
6. เนย มาการีน  ○  แต่เนื่องจากมีแคลอรีสูง ไม่ควรที่จะทานเยอะ
7. ไส้กรอก แฮม อาหารแช่แข็ง บะหมี่สำเร็จรูป  △เนื่องจากมีสัดส่วนของเกลือในอาหารเยอะ ไม่ควรทานติดต่อกัน
8. ไข่ดิบของที่ญี่ปุ่น  ○ เนื่องจากมีการควบคุมเรื่องของอนามัย ถ้าเป็นไข่ดิบสด ๆ ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องอาหารเป็นพิษ
9. อาหารที่ใช้เครื่องปรุงประเภทพริกหรือกิมจิ △ ถ้าทานในปริมาณที่เคยทานมาก่อนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าทานในปริมาณมาก ๆ จะทำให้กระเพาะอักเสบและริดสีดวงทวารเพราะฉะนั้นไม่ควรทานในปริมาณที่มาก
10. ช็อคโกแลต, โกโก้ ○ ถ้าระวังในเรื่องของน้ำตาลอยู่แล้วก็สามารถทานได้ ถึงจะมีสารคาเฟอีนรวมอยู่ด้วย ถ้าทานในปริมาณที่ปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร

-เครื่องดื่ม :
1. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ  △  ดื่มได้แต่ให้จำกัดที่ปริมาณ ใน 1 วันควรดื่มที่ประมาณ 1 ถ้วย
2. น้ำอัดลม  △ ดื่มได้ แต่เนื่องจากมีน้ำตาลเยอะ ให้จำกัดปริมาณ
3. ชาสมุนไพร × แต่ถ้าระบุว่าคนท้องก็สามารถดื่มได้ก็ให้เลือกที่ระบุว่าสามารถดื่มได้จะดีกว่า

ปล. บางเรื่องถึงเขาจะเขียนว่าได้แต่ถ้าเรายังกังวลอยู่เราก็เลี่ยงเหมือนกันเพื่อความสบายใจ  ก็ถือเป็นข้อมูลแล้วกันนะคะ
ส่วนหัวข้ออื่น ๆ จะทยอยอัพน้า









วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์)

 วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะติดงาน ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 101/62 ลดลงจากครั้งที่แล้ว จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 68.5 (ครั้งที่แล้ว  67.1) เจอคุณหมอพูดเลยว่าน้ำหนักขึ้นเยอะ หลังจากนี้ให้ควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2-3 กิโล แล้วคุณหมอก็พูดว่าท้องคงหนักน่าดู คงเห็นท้องเราใหญ่มั้งนะ เราก็สังเกตผู้หญิงญี่ปุ่นที่ท้องส่วนใหญ่ท้องจะเล็ก ๆ กันแหละ อย่างเวลาเราเดิน ๆ ข้างนอกก็มีคนมองมาเหมือนกัน ไม่รู้มองที่ว่าท้องเราใหญ่ หรือว่ามองเพราะอย่างอื่น แต่ก็ช่างเหอะเนอะ

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Puramai (ปกติจะพูดว่า Mukumi nashi = ขาไม่บวม) ก็แสดงว่าคงมีอาการบวม แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ดูหัวใจเต้น ฟังเสียงหัวใจเต้น น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,100 กรัม คุณหมอบอกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ แต่ให้คุณแม่คุมน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักเกิน 15 กิโลไปแล้วจะยิ่งทำให้คลอดยากขึ้น ก็เป็นอันเสร็จการตรวจซาวด์ในครั้งนี้

ก็มาพูดคุยกับคุณหมอ สิ่งที่เราถามคุณหมอในครั้งนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อ GBS ที่คุณหมอแจ้งผลเมื่อครั้งที่แล้ว คำถามที่เราถามก็คือหลังจากทานยาไปแล้วตรวจครั้งต่อไปไม่พบเชื้อ แต่ว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมที่ตอนคลอดเชื้อจะกลับมา ซึ่งคำตอบของคุณหมอก็คือถ้าทานยาแล้วเชื้อหายไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้ายาก็ช่วยไม่ได้ ยังมีเชื้ออยู่ ตอนคลอดก็จะทำการให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการเพิ่มภูมิให้กับทารก ซึ่งคุณหมอบอกว่าเท่าที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วหลังจากคลอดแล้วก็จะทำการตรวจเลือดโดยตรวจจากสะดือของทารก ก็คงเป็นขั้นตอนการตรวจของโรงพยาบาลอ่ะเนอะ ฟังแบบนี้แล้วค่อยสบายใจหน่อย ส่วนเรื่องที่ต้องระวังตอนนี้ก็คือเรื่องน้ำหนัก (อีกแล้ว) เพียงเรื่องเดียว 

ก็เป็นอันเสร็จการตรวจในครั้งนี้ นัดครั้งต่อไปอีก  2 อาทิตย์

ในตอนที่จ่ายเงินค่าตรวจ เราก็จองคอร์สอบรมสำหรับของทั้งพ่อและแม่ (3 ครั้งแรกจะแค่แม่อย่างเดียว) เนื่อหาของคอร์สสำหรับพ่อและแม่ก็จะเกี่ยวกับการที่คุณพ่อเข้าไปในห้องคลอดด้วย และก็จะให้เดินดู ๆ ห้องคนไข้ ซึ่งวันที่อบรมคุณพ่อก็ต้องมาด้วยกัน 

ค่าตรวจในวันนี้ 1,870 เยน 

พอกลับมาที่บ้านก็มาดูสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ครั้งนี้อีกแล้วที่ช่อง 浮腫 (อาการบวม) ผลจากการตรวจปัสสาวะ พยาบาลวงที่เครื่องหมาย - และ + ปกติจะแค่เครื่องหมาย - สงสัยครั้งนี้คงบวมนิดหน่อยมั้งนะ เพราะก่อนหน้านี้ ตื่นมาตอนเช้าเหมือนจะเป็นตะคริวที่ขา พอเริ่มรู้สึกเจ็บ ๆ เราก็พยายามยกขาสูงขึ้นนิดนึง อาการก็หายไป 

ส่วนอาการอื่น ๆ โดยรวมในช่วงนี้ :

- เริ่มเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น กลางคืนก็ตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 จะคล้าย ๆ ตอนตั้งท้องใหม่ ๆ เข้าห้องน้ำถี่เชียว

- การดิ้นของเจ้าหนูจะถี่ขึ้น โดยเฉพาะตอนเย็น - กลางคืน มีปูด ๆ ขึ้นมาบางทีก็ด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้าง แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปมือ หรือเท้า 

- ง่วงนอนมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้นมีปวดจิ๊ด ๆ เหมือนหายใจไม่ทันตอนที่เราออกกำลังกาย อย่างขึ้นลงบันได ก็เหนื่อยแล้ว 

 

 

 




 

 

 

 

วันพุธที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 9 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 31 สัปดาห์)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 9 (อายุครรภ์ 31 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูไม่ได้ไปด้วย เพราะติดงาน จริงๆ มีนัดตอนบ่าย ถ้าเป็นบ่ายคุณซูก็มาด้วยได้ แต่เมื่อวานทางโรงพยาบาลโทรมาเลื่อนขอเป็นช่วงเช้า ครั้งนี้ก็เลยต้องไปคนเดียว
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  บัตรประกันสุขภาพ  จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ

ความดันที่วัดได้ รู้สึกว่าจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ๆ ครั้งนี้อยู่ที่ 122/57 แต่คงไม่สูงมาก เพราะคุณหมอไม่ได้พูดอะไร หลังจากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ รอคุณหมอนานมาก เกือบชั่วโมงได้มั้ง เพราะคุณหมอมีผ่าตัด พอเรียกเข้าห้องก็มีการชั่งน้ำหนักก่อน  ชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 67.1 กิโล (ครั้งที่แล้ว 66.5) ขึ้นมา 0.6 กิโล พอคุณหมอมาตรวจ ก็ซาวด์ ระหว่างที่ซาวด์คุณหมอก็ไม่ค่อยได้พูดอะไรมาก จะมีดูส่วนหัว วัดความยาวส่วนหัว ดูส่วนขา แล้วก็คงดูส่วนอื่น ๆ ด้วยอ่ะนะ เพราะเราก็ดูไม่ค่อยเป็น จากนั้นก็ฟังเสียงหัวใจเต้น คุณหมอบอกว่าปกติดี ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการซาวด์ในครั้งนี้ 

จากนั้นก็มาฟังผลจากการที่ตรวจภายในครั้งที่แล้ว เราแอบเห็นค่าแบคทีเรียในตกขาวเป็น + อ่ะ แล้วที่โต๊ะก็มีกระดาษขนาดครึ่ง A4 วางอยู่ คุณหมอก็ถามว่าอ่านญี่ปุ่นได้มั้ย เราก็บอกว่าได้นิดหน่อย คุณหมอก็เลยบอกว่าอย่างนั้นให้คุณซูช่วยอ่านด้วย แล้วก็อธิบายให้เราฟังคร่าว ๆ ว่า ผลการตรวจก็คือในช่องคลอดเรามีแบคทีเรียอยู่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป โดยปกติก็จะมีอยู่ในร่างกายคนปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้ท้อง ไม่ได้อะไรก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับมัน แต่สำหรับคนท้องแล้ว เพื่อเป็นการป้องกันทารก คุณหมอก็เลยจะจัดยาให้มาทานสำหรับ 1 อาทิตย์ แล้วในการตรวจของครรภ์ที่อายุ 35 สัปดาห์ ก็จะมีการตรวจภายในแบบนี้อีกครั้ง ถ้าแบคทีเรียนี้ไม่หมดไป ก็ไม่เป็นไร ก่อนที่จะเบ่งคลอด คุณหมอก็จะให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อไปที่ทารก

กระดาษที่คุณหมอให้มาจะเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นหัวข้อคือ 「GBS感染症について」

GBS = Group B Streptococcus 

จากนั้นคุณหมอก็ถามว่ามีอะไรจะถามมั้ย เราก็เลยถามว่า จะเป็นอันตรายมั้ย คุณหมอก็บอกว่า ไม่เป็นอันตราย เพราะมันก็คือแบคทีเรียทั่ว ๆ ไป แล้วก็เลยถามต่อว่าแล้วช่วงนี้ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า คุณหมอก็เลยตอบว่า "น้ำหนัก" 

แล้วคุณหมอก็ดูน้ำหนักครั้งที่แล้ว กับครั้งนี้ แล้วก็บอกว่าถ้ารักษาได้ระดับแบบนี้ก็โอเค

ก็เป็นอันเสร็จสำหรับการตรวจในครั้งนี้ 

นัดครั้งต่อไปอีก 2 สัปดาห์

ในครั้งนี้มียาด้วย หน้าตาเป็นแบบนี้ ทานหลังอาหาร เช้า กลางวัน เย็น มื้อละเม็ด

ค่าตรวจในวันนี้ 2,400 เยน 

หลังตรวจเสร็จรู้สึกจิตตกเล็กน้อย กังวลเกี่ยวกับแบคทีเรียที่ว่านี้ ก็เลยให้คุณซูช่วยหาข้อมูลของที่ญี่ปุ่นด้วย เพราะเราลองหาข้อมูลของไทย มีบางคนโพสต์ไว้ รู้สึกน่ากลัวจัง แต่คุณซูบอกว่าไม่ต้องไปเครียดกับมัน เพราะมันก็คือแบคทีเรียธรรมดา ๆ ที่มีอยู่ในร่างกายคนอยู่แล้ว   จากนั้นเราก็ให้คุณซูฟังที่เราอัดเสียงคุยกับคุณหมอในครั้งนี้ คุณซูก็บอกอีกว่าข้อมูลที่หาจากทางเว็บกับที่คุณหมอบอกมาเหมือนกัน ไม่ต้องเครียด ๆ เอาอย่างนี้มั้ย ให้เราเป็นเพื่อนกับแบคทีเรียตัวนี้ให้มากขึ้น คือทำความสะอาดห้องน้ำให้น้อยลง เล่นกับหมากับแมว (ปกติเราไม่ค่อยชอบอยู่ใกล้หมากับแมวเท่าไหร่) ดูคุณซูพูดเข้าสิ ฮาดี  ก็รู้สึกดีขึ้นนะ เพราะถ้าเครียดไปก็ส่งผลไม่ดีกับทารกเปล่า ๆ 

อาการในช่วงนี้ :

- หลังจากตื่นนอนในตอนเช้า ขาเคยเป็นตะคริว 2 ครั้ง แต่ช่วงนี้ไม่เป็นหละ

- เจ้าหนูน้อยในท้องนี่ดิ้นแรงขึ้น แล้วก็บ่อยขึ้น โดยเฉพาะช่วงเย็น ๆ บางครั้งรู้สึกเหมือนกับอวัยวะอาจจะเป็นส่วนแขนหรือขา ถูกับภายในท้องเราด้วย 

 

 


 





 

 

 


วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เรื่องราวของญี่ปุ่นที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมหลังจากมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่เกือบปีครึ่ง

เรื่องราวของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม หรือของใช้ หรืออื่น ๆ ที่เรารู้สึกว่าได้เรียนรู้เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ หลังจากที่เราย้ายมาอยู่ที่นี่ในฐานะแม่บ้านได้เกือบปีครึ่ง (เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมาเรียนแลกเปลี่ยน กับมาฝึกงานอย่างละปี) ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น เลยอยากเขียนเก็บไว้เผื่ออยากย้อนเวลาตอนที่เราอยู่ ณ ตอนนี้ตัวเองคิดอะไรยังไง ^0^

(ไม่ได้เรียงลำดับนะ นึกเรื่องอะไรได้ก็เขียนเลย อิอิ)

ข้อที่ 1. ของใช้หน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่แยกประเภทการใช้งาน อย่างเช่น ฟองน้ำล้างจาน ถ้าเราไปซื้อก็คงไม่ได้ดูถึงว่าแบบนี้สำหรับล้างจาน แบบนี้สำหรับงานอย่างอื่น

ข้อที่ 2. ถ้าเราแปะที่หน้าประตูบ้านว่า “ไม่ขอรับใบปลิว โฆษณา” คนแจกก็ไม่มาหยอดที่ตู้ไปรษณีย์บ้านเราจริงๆ  เว้นแต่คนที่เขาไม่ยอมรับรู้ 555 แจกอย่างเดียว

ข้อที่ 3. เวลาตั้งโต๊ะอาหาร สำหรับครอบครัวของเราจะไม่ค่อยอะไรมากมาย แต่เท่าที่เราสังเกตครอบครัวอื่น ๆ เขาจะแยกถ้วยชาม แก้วน้ำ รวมถึงตะเกียบของใครเป็นของใครไว้เลย สำหรับแขกก็จะมีแยกเอาไว้

ข้อที่ 4. ที่ญี่ปุ่น อิงคังเปรียบเสมือนเป็นลายเซ็นของเรา เพราะฉะนั้นเราต้องเก็บไว้เป็นอย่างดี  อิงคังส่วนตัวที่เอาไปลงทะเบียนอิงคังที่สำนักงานเขตแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้กับธนาคารแล้วก็การติดต่อราชการ ถ้าเป็นเรื่องอื่น ๆ ที่จะต้องใช้อิงคิง ก็สามารถใช้ของที่ไม่ได้ไปลงทะเบียนก็ได้
ข้อที่ 5. KFC ที่ญี่ปุ่น (โตเกียว) เขาเรียก kentaki (เคนตักกี่) หล่ะ

ข้อที่ 6. การแยกและทิ้งขยะ เราต้องแยกขยะตามที่ทางสำนักเขตเขาได้ระบุไว้ และทิ้งในวันที่กำหนด ถ้าเราไม่ได้ทำตามนั้น อย่างกล่องลูกฟูก ถ้าไม่ได้พับให้เรียบร้อยก่อนทิ้ง ทิ้งทั้งสภาพที่ยังเป็นกล่อง พนักงานเก็บขยะก็จะไม่เก็บ ถึงจะเป็นวันขยะกระดาษ ก็ไม่เก็บ ถ้าขยะชิ้นนั้นเป็นของเรา ถึงคนอื่นไม่รู้ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจ เพราะต้องเจอมันทุกวัน

ข้อที่ 7. เวลาเราเจอเพื่อนบ้าน เจอเพื่อน เจอคนรู้จัก หรือเวลาไปบ้านคนอี่น ควรจะทักทายด้วย “โอะฮะโยโกะไซมัส หรือคอนนิจะวะ หรือ คอมบังวะ” ด้วยน้ำเสียงที่แข็งขัน ซึ่งคำทักทายถ้าแปลเป็นไทยก็คือ “สวัสดีครับ / ค่ะ” นั่นเอง

ข้อที่ 8. การใช้บันไดเลื่อน ถ้าเป็นในแถบโตเกียว ปกติจะยืนด้านซ้าย ถ้าต้องการรีบ ก็ให้เดินทางด้านขวา  แต่ถ้าเป็นแถบโอซาก้า ปกติจะยืนด้านขวา ถ้าต้องการรีบ ก็ให้เดินทางด้านซ้าย

ข้อที่ 9. กฏการขับรถของญี่ปุ่น
  - ถ้าบีบแตรแล้วยกมือ หรือเปิดไฟกระพริบ หมายถึงการขอบคุณ
   -  ถ้าเปิดไฟสูง หมายถึง การให้รถเราที่ขอสัญญาณอะไรอยู่ทำได้ เช่นกำลังเปิดไฟขอเลี้ยว รถที่เปิดไฟสูงจะจอดให้รถเราได้เลี้ยว
   -  ถ้ารถสามารถเลี้ยวได้ แต่สัญญาณไฟสำหรับคนหรือจักรยานข้ามยังเป็นสีเขียว ต้องให้คนหรือจักรยานข้ามไปก่อน ถึงจะเลี้ยวได้
   -  ส่วนใหญ่แล้วขับกันอยู่ที่ความเร็ว 40 -60

ข้อที่ 10. ตอนกลางคืน ถึงเข้านอนแล้ว บ้านคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ชั้นล่างจะเปิดไฟหรี่สีเหลือง ๆ ทิ้งไว้ ในห้องนอนก็เปิดไฟหรี่สีเหลือง ๆ ทิ้งไว้ ตอนแรกบ้านเราก็เป็นแบบนั้น แต่ด้วยความที่ว่าอยากประหยัดไฟ (นิด ๆ หน่อย ๆ ก็ยังดี) เลยบอกคุณซูว่าปิดเถอะ

ข้อที่ 11. ถ้าเราได้นั่งไม่ว่าจะอยู่บนรถเมล์ หรือรถไฟ ถ้ามีผู้หญิงท้องแล้วท้องอาจจะยังไม่โต เลยดูไม่ค่อยออกว่าเป็นคนท้อง แต่ถ้าเขาแขวนป้ายว่า “เป็นคนท้อง” ต้องรีบลุกขึ้นให้เขานั่ง และที่นั่งบริเวณที่เป็นสำหรับคนท้อง คนชรา ต้องปิดสัญญาณมือถือ ถ้าไม่ใช่บริเวณนี้ ให้ใช้โหมดสั่นแทนได้

ข้อที่ 12. หลาย ๆ ครอบครัว เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ จะใช้น้ำที่ใช้จากการลงอ่างอาบน้ำ (โอะฟุโระ) ซักผ้าต่อ มีเครื่องถ่ายน้ำมาที่เครื่องซักผ้าขายด้วย แต่บ้านเราเราใช้น้ำโอะฟุโระของแต่ละครั้งประมาณ 3 วัน หลังจากนั้นถ้าไม่ได้ใส่ผงสำหรับแช่ ก็จะเอาไปรดน้ำต้นไม้ต่อ แล้วค่อยขัดอ่าง

ข้อที่ 13. เวลาลองชุดที่ห้องลอง รองเท้าเราต้องถอดแล้ววางด้านนอกห้อง บางร้านให้เอารองเท้าเข้าไปได้แต่ก็ให้วางด้านล่าง
และส่วนใหญ่เวลาเราตัดสินใจเอาเสื้อผ้าชิ้นไหนแล้ว คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ถามว่ามีชิ้นใหม่หรือเปล่า จะเอาจากราวที่มีอยู่ ถึงจะมีแค่ตัวเดียว เขาก็ซื้อกัน นอกจากทางร้านจะเสนอเองว่าเดี๋ยวหยิบชิ้นใหม่มาให้

ข้อที่ 14. ไปซื้อของที่ซุปเปอร์ ถ้าคิวยาวมาก ๆ พนักงานจะเปิดเค้าน์เตอร์ใหม่ให้ พนักงานแคชเชียร์จะเรียกคิวแรกที่กำลังรอ ให้ไปจ่ายที่เค้าน์เตอร์ใหม่ และของในตระกร้า พอจ่ายเงินเสร็จ เราต้องใส่ลงถุงเอง (จะมีที่ให้ใส่)

ข้อที่ 15. การลงรถเมล์ ต้องกดกริ่ง และต้องให้รถจอดก่อนถึงค่อยลุก แล้วค่อยไปจ่ายเงิน (ในกรณีที่ไม่มีบัตรเติมเงินประเภทต่าง ๆ อย่างบัตร SUICA เป็นต้น)  ถ้าไม่มีเหรียญ ที่เครื่องจ่ายเงินนั้นก็จะมีเครื่องแลกเงิน ให้เราให้แบ็งค์ใส่เข้าไป เหรียญก็จะออกมา แล้วค่อยเอาไปหยอดที่ช่องค่าโดยสาร

ข้อที่ 16. ที่ร้านอาหารหรือร้านกาแฟ สำหรับคนที่ไม่ชอบกลิ่นบุหรี่ก็ต้องทน เพราะถึงจะมีแบ่งที่ว่าเป็นที่สำหรับสูบบุหรี่ได้ ที่บริเวณนี้ห้ามสูบ แต่ก็เป็นห้องเดียวกัน กลิ่นก็วนเวียนอยู่ในนั่นแหล่ะ

ข้อที่ 17. โดยส่วนตัวเราไม่ค่อยชอบวางกระเป๋า หรือถุงหรือสัมภาระกับพื้นบริเวณที่เรายืน อย่างตอนรอรถ หรือบนรถไฟ แต่ที่นี่เขาวางกันเป็นปกติ ไม่กลัวว่าก้นกระเป๋า ก้นถุงจะเลอะเทอะอะไรเลย

ข้อที่ 18. การพาหมาไปเดินเลิน ก็เป็นกิจวัตรประจำวันของแม่บ้าน หรือคนเลี้ยง แต่พวกเขาจะต้องถือถุงพลาสติกไปด้วย เพราะถ้าเจ้าดุ๊กดิ๊กอึ เจ้าของต้องเก็บอึด้วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาคอยระวังว่าจะเหยียบขี้หมาหรือเปล่า (แต่ก็มีบางคนไม่เก็บเหมือนกัน)

ข้อที่ 19. ไปรักษาโรคที่โรงพยาบาล เขามีเวลาเปิดปิดเค้าท์เตอร์ลงทะเบียนผู้ป่วยด้วย ต้องไปให้ทันเวลา ไม่เช่นนั้น ต้องรอรอบถัดไป หรือวันถัดไป และการจ่ายยา เราจะไม่ได้รับยาโดยตรงจากทางโรงพยาบาล ต้องเอาใบจ่ายยาไปซื้อที่ร้านที่รับใบจ่ายยา (ไม่รู้เป็นเหมือนกันทุกที่หรือเปล่า)

ข้อที่ 20. การใส่หน้ากากอนามัย ถือเป็นเรื่องปกติของที่นี่ ถึงเราไม่ได้เป็นไข้หวัด ปกตินี่แหล่ะ จะใส่เพื่อเป็นแฟชั่นตามเขาก็ได้

ข้อที่ 21. จักรยานถือเป็นพาหนะที่เจอทั่วไปบนฟุตบาท เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินก็ต้องระวังจักรยานชน

ข้อที่ 22. ทำมิโซะซุป ตัวเนื้อมิโซะซุป เราคนด้วยทัพพีธรรมดา โดนคุณซูดุเลยว่า "นึกแล้วว่าทำไมยังเป็นก้อน ๆ" เพราะฉะนั้นการทำมิโซะซุป ต้องเอาเนื้อมิโซะใส่บนทัพพีที่มีรู แล้วก็ค่อยๆ ละลาย ๆ จนหมด จะได้ไม่มีก้อนหลงเหลือ
ข้อที่ 23. ทิชชูในห้องน้ำ เราสามารถทิ้งลงไปในชักโครกได้เลย ส่วนถังขยะที่มีไว้ไห้ จะสำหรับทิ้งพวกผ้าอนามัย ฯ แต่ถ้าใครใช้ทิชชูเปียกก็ต้องเลือกแบบที่เขียนว่าสามารถทิ้งลงไปในชักโครกได้ เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้ตันได้
ข้อที่ 24.  แม่บ้านแถวบ้านเราเขาซักผ้ากันทุกวันเลย เลยทำให้เราต้องซักเกือบทุกวันเหมือนกัน (ติดนิสัยมา) เพราะตอนอยู่ไทยตอนที่ทำงานต่างจังหวัด จำได้ว่าสักประมาณอาทิตย์ละครั้งได้
ข้อที่ 25. เนื้อหมูหรือเนื้ออื่นๆที่ขายตามซุปเปอร์เป็นแพ็ค.ๆไม่จำเป็นต้องล้างก่อนนำมาทำอาหารแหละ.ช่วงแรกชินกับตอนอยู่ไทย.ล้างก่อนตลอด.ตอนนี้ไม่หละ
ข้อที่ 26. ถ้าเราพาเด็ก ๆ ไปเที่ยว คุณซูจะบอกเสมอว่าถ้าจะให้เด็กนั่งที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งบนรถไฟ ที่นั่งตามร้านอาหาร ให้ถอดรองเท้าเด็กออกก่อน เผื่อเด็กปีน หรือยืนบนที่นั่ง ก็จะทำให้เบาะเปื้อน
ข้อที่ 27. ตอนนี้เราท้องอยู่ เวลาไปซื้อของที่ซุปเปอร์ ถ้าคิวไม่ยาว แคชเชียร์เขาจะช่วยยกตระกร้าที่เราจ่ายเงินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปวางที่โต๊ะสำหรับใส่ลงถุงให้ ใจดีจัง
ข้อที่ 28. เราเคยเห็นแม่ลูกคู่นึง เด็กก็คงไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรหรอกนะ พอเห็นลิฟต์ลงมา เด็กก็จะเข้าไปก่อน แม่เขาสอนเลยว่าให้รอ (เพราะเขามาหลังเรา) สิ่งนี้คงเป็นสิ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเข้าคิวต่อแถวอย่างเป็นระเบียบ แต่เราก็เคยเห็นบางรายการที่เขาฉาย เราก็เห็นคนญี่ปุ่นแย่งซื้อของลดราคากันเหมือนกันนะ อย่างว่าของถูกใคร ๆ ก็อยากซื้ออ่ะเนอะ
ข้อที่ 29. ถึงจะเข้าหน้าร้อน คุณซูก็ยังคงจะอาบด้วยน้ำอุ่น แช่น้ำอุ่น เพราะเขาบอกว่าช่วยทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น แต่เราไม่ไหวอ่ะ อาบน้ำเย็นเลย ไม่ลงแช่น้ำอุ่นด้วย ร้อนเกิน 
ข้อที่ 30. เราสามารถขอใช้ห้องน้ำตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปได้ สะดวกดีเหมือนกันเวลาเดินทางไปไหนไกล ๆ 
ข้อที่ 31. คุณซูเอารถเข้าเช็คที่ศูนย์อย่างเช็คระยะ หรือเปลี่ยนแบต หรืออื่น ๆ ทางศูนย์เขาไม่ได้ล้างรถให้เราแหละ จะต่างกับตอนที่เราเอารถเข้าศูนย์ฮอนด้าที่ไทย (ไม่รู้ศูนย์บริษัทอื่นจะเหมือนกันมั้ย) ทุกครั้งรถจะใหม่ สะอาดออกมาเลย 
ข้อที่ 32. ปั้มน้ำมันที่นี่จะมีบริการให้เราเติมน้ำมันเอง คุณซูมักจะเลือกแบบบริการตัวเอง เพราะคุณซูบอกว่าจะถูกกว่าที่มีพนักงานมาบริการให้นิดหน่อย เราก็ไม่รู้ว่าจะเหมือนกันทุกปั้มหรือเปล่า สำหรับปั้มที่เราใช้อยู่ก็จะมีบริการล้างรถแบบหยอดเหรียญ พอล้างเสร็จ ก็จะมีส่วนที่ให้เรามาเช็คทำความสะอาดอีกที จะมีผ้าขนหนูเล็ก ๆ เตรียมไว้ให้  มีเครื่องดูดฝุ่นแบบหยอดเหรียญ  มีเครื่องทำความสะอาดพรมในรถด้วย 
ข้อที่ 33. ถ้าเราทานข้าวนอกบ้าน เวลาเข้าไปในร้านแล้ว ถ้าพนักงานยังไม่มาเชิญให้เราไปนั่งที่โต๊ะ เราก็ต้องยืนรอบริเวณประตูจนกว่าพนักงานจะมา ถ้าพนักงานยุ่ง ๆ อยู่ก็อาจจะรอนานหน่อย  จริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าการไปนั่งที่โต๊ะว่าง ๆ เองจะได้หรือเปล่า เพราะเราเห็นก็มีแต่คนยืนรออ่ะ
ข้อที่ 34. ป้ายที่แขวนบนท้องถนน แบบว่าถ้าจะไปที่นี่ตรงไป หรือเลี้ยวซ้ายขวา ที่ญี่ปุ่นใช้สีน้ำเงินหล่ะ (ที่ไทยใช้สีเขียว) ส่วนป้ายที่เป็นสีเขียวที่ญี่ปุ่นจะหมายถึงไปทางด่วน (ซึ่งที่ไทยทางด่วนจะเป็นป้ายสีน้ำเงินเนอะ) สลับกัน
ข้อที่ 35. ตามโฮมเซ็นเตอร์ จะมีขายพวกดอกไม้ ต้นไม้ กระถางด้วย สะดวกดีเหมือนกัน 
ตอนนี้มีประมาณเท่านี้ ถ้าเจออะไรใหม่ ๆ จะอัพเดทอีกทีนะคะ ^^

วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เตรียมของเด็ก - หมวดอุปกรณ์สำหรับตอนออกไปข้างนอก

อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับออกไปข้างนอก ต้องเตรียมไว้ก่อน เพราะหลังคลอดแล้วคงยุ่งสุด ๆ
ก็จะมี
1. คาร์ซีท (チャイルドシート) (กฎหมายที่ญี่ปุ่นบังคับให้เด็กต้องนั่งคาร์ซีท)
2. เบบี้คาร์ (ベビーカー)
3. เป้อุ้มเด็ก (抱っこひも)
4. กระเป๋าสำหรับคุณแม่ (マザーズバッグ)

สำหรับข้อ 1 กับข้อ 2 เราซื้อแบบที่เป็นมัลติฟังก์ชั่นมา (多機能ベビーカー) ก็คือเป็นทั้งคาร์ซีทแล้วก็เบบี้คาร์


สำหรับลักษณะการใช้งานก็จะเป็นตามลิ้งค์ด้านล่างค่ะ

 http://www.combi.co.jp/products/stroller/multi5way/

เห็นพี่สะใภ้ใช้อยู่ สะดวกดีเหมือนกัน เวลาไปไหนมาไหนก็หิ้วไปทั้งแบบนี้เลย


ก่อนที่จะได้มา ตอนแรกไปดูตามร้านมือสองกับคุณซู เข้าร้านโน้น ออกร้านนี้ หลายวันมาก เจอเหมือนกันแต่ว่าไม่ค่อยถูกใจกับสภาพเท่าไหร่ มีวันนึงไปเอ้าท์เลทที่มีร้านของ Combi ด้วย ไปถึงก็ไม่มีขายรุ่นนี้ ขากลับคิดว่าจะสั่งซื้อตามเน็ทหล่ะ คิดว่าน่าจะมี ระหว่างทางเจอร้าน Toysrus เลยลองแวะเข้าไปดู ทั้ง ๆ ที่ก็เคยแวะดูสาขาอื่นแล้ว ก็ไม่มี ปรากฏว่ามีแต่เหลือแค่คันเดียว ตกลงซื้อเลยแทบไม่ได้เช็คอะไรกันเลย เพราะสินค้าใหม่น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แล้วรุ่นนี้ก็หายากมาก ๆ ไม่ซื้อวันนี้ก็คงต้องหากันอีกนานเลย
ราคา + ทำประกันด้วยก็ 26,945 เยน (25,917+ ประกัน 1,028)
ไม่รู้ว่าไม่ฮิตหรือว่าขายดีเกินอ่ะเนอะ

ข้อ 3. เป้อุ้มเด็ก เราเลือกเอาแบบ 4 way ราคา 16,800 เยน ซื้อที่ Akachanhonpo


แบบ 3 way ก็มีเหมือนกันราคาก็จะถูกกว่า แต่ที่เลือกแบบ 4 way เพราะใช้กับเด็กแรกเกิดได้ด้วย


ข้อ 4. กระเป๋าสำหรับคุณแม่ มีช่องหลายช่อง แล้วก็มีกระเป๋าเล็ก ๆ สำหรับใส่แพมเพิสให้ด้วย
ราคา 3,238 เยน ลดไป 2 เยน เหลือ 3,236 เยน เพราะไม่เอาถุงก็อบแก๊บ ซื้อที่ Toysrus


ที่เหลือหมวดอื่น ๆ ไว้ครบแล้ว จะมาอัพอีกทีนะคะ ^^