พรุ่งนี้ 8 เมษา ลูกชายก็จะขึ้น ป.5 แล้ว เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก
จากการที่ลูกเรามีภาวะทางออทิสติก ซึ่งเรารู้ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าเรียนชั้นประถม ก็เลยให้ลูกชายเรียนคลาสสำหรับเด็กพิเศษ (ที่นี่เขาจะเรียก 支援級(ชิเอ็งคิว) ก็คือตามตัวหนังสือเลย จะเป็นคลาสที่เด็ก ๆ จะได้รับความช่วยเหลือทั้งเรื่องการเรียน การกีฬาหรือกิจกรรมต่าง ๆ)
อย่างด้านจำนวนนักเรียนห้องนึงไม่เกิน 8 คน (อาจจะมีเด็กชั้นเดียวกัน หรือชั้นที่สูงกว่า หรือชั้นที่เล็กกว่าปน ๆ กันไป) โดยคลาสสำหรับเด็กพิเศษ (支援級) ก็จะมีการแบ่งประเภทของเด็กอีก จะมี 2 ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง เรียก 情緒学級 (โจ้โฉะกักคิว) คลาสนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการเรียน แต่จะมีปัญหาอย่างเรื่องของการควบคุมอารมณ์
ประเภทที่สอง เรียก 知的学級 (จิเตคิกักคิว)
คลาสนี้จะมีปัญหาในเรื่องการเรียน คือเรียนไม่ทันเพื่อน
ตั้งแต่ป.1 - ป.3 ลูกเราเรียนคลาส 情緒学級 แต่พอตอนป.4 เปลี่ยนครูประจำชั้นคนใหม่ เท่านั้นแหละ ตอนมีนัดคุยกับผู้ปกครอง ครูป.4 บอกให้เราพิจารณาคลาส 知的学級 เพราะดูเหมือนลูกชายเราจะเรียนไม่ทันเพื่อน
เรากับสามีไม่รอช้าเลย เปลี่ยนก็เปลี่ยน เพราะลูกเราคงไม่ถูกจริตกับครูคนใหม่นี้ การเรียนแย่ลง สมาธิสั้นมากขึ้น คือทุกอย่างแย่ลงกว่าตอน ป.3 มาก แล้วเราก็มารู้ภายหลังเพราะมีแอบไปรับลูกถึงห้องเรียนก่อนเวลา (เพราะต้องพาไปโรงพยาบาล) รู้เลยว่าครูให้เล่นโน้ตบุ๊ค (นักเรียนทุกคนจะมีกันคนละเครื่อง)
แล้วไม่ได้ให้เล่นแป๊ปเดียวนะ ลองถามลูก ลูกบอกเล่นเกือบทั้งวัน แล้วน่าจะทุกวัน โห นี่สินะที่มาของอาการแย่ลง
เลยขอครูว่าถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากให้เล่นนอกเหนือจากที่ใช้เรียน ครูตอบว่าถ้าไม่ให้เล่น เด็กจะเครียด ครูเขายืนยันว่าจะยังคงให้เล่นต่อไปเพื่อไม่ให้เด็กเครียด นี่คือวิธีการของเขา
เรากับสามีคือทำอะไรไม่ได้ นอกจากอดทน 1 ปี เพราะการย้ายคลาสต้องรอขึ้นชั้นถัดไปถึงย้ายได้ มีแม่คนญี่ปุ่นที่ลูกเขาอยู่คลาสเดียวกันกับลูกเราบอกเราว่าปีหน้าเขาจะย้ายโรงเรียนแล้วนะ เหตุผลเราไม่กล้าถามนะ แต่น่าจะมาจากครูประจำชั้นคนใหม่คนนี้ คิดว่านะ
เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรากังวลมากเลยกับชั้น ป.5 นี้ ก็คือครูประจำชั้น เพราะถ้าเจอครูที่ดี ใส่ใจนักเรียนเด็กพิเศษ เด็กก็จะพัฒนาต่อไปอีกได้ แต่ถ้าเจอเหมือนตอนป.4 น่าสงสารเด็กมากอ่ะ แทนที่จะได้รับการช่วยเหลือให้พัฒนาให้ดีขึ้นกลับแย่ลง แล้วเด็กโต ก็ค่อนข้างแก้ยากอยู่แล้ว
ขึ้นป.5 สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
1. จาก情緒学級 เป็น 知的学級
2. เพื่อนร่วมชั้น
3. ครูประจำชั้น
ก็ขอให้ลูกเราเจอครูที่เมตตา ต้องการพัฒนาเด็กให้ดีขึ้น แล้วก็ขอให้เจอเพื่อนร่วมชั้นที่เข้ากันได้ดีด้วยเทอญ
ภาพด้านล่าง การบ้าน งานประดิษฐ์ตอน ป.4 บางส่วน เก็บไว้เป็นความทรงจำ
แต่งานประดิษฐ์ครูผู้ช่วยเป็นคนทำซะส่วนใหญ่ ก็คงต้องทิ้งไป เพราะไม่ใช่ฝีมือลูกตัวเอง