วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ในช่วงของการตั้งครรภ์แรก ๆ เรื่องที่ทำได้ และเรื่องที่ทำไม่ได้ - บุหรี่ เหล้า, ของกิน, เครื่องดื่ม

ไปอ่านเจอนิตยสารเล่มนึงของญี่ปุ่นที่รวบรวมเกี่ยวกับช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ว่าเรื่องไหนทำได้ เรื่องไหนทำไม่ได้
ในนิตยสารก็จะแบ่งเป็นหัวข้อ ๆ ซึ่งหัวข้อที่เราจะขออัพก่อนก็จะมี บุหรี่ เหล้า, ของกิน, เครื่องดื่ม
โดยขอแสดงเป็นเครื่องหมาย
○  ทำได้ OK
△ ทำได้แต่ให้ระมัดระวังในเรื่องของปริมาณ ฯลฯ
× ทำไม่ได้  NG


-บุหรี่ เหล้า :
1. บุหรี่ ×
2. เหล้า ×
3. เหล้าที่ใช้ในการทำอาหาร  △
4. เบียร์ แอลกอฮอล์ 0.0 %  △ แต่ระวังเรื่องของน้ำตาล

-ของกิน :
1. ปลาดิบ (Sashimi, Sushi) △ ทานได้แต่ให้ระวังเรื่องปริมาณ เพราะอย่าง Maguro อาจจะมีพวกสารปรอทอยู่  และปลาอื่น ๆ ถ้ายังดิบ ๆ อยู่อาจจะมีแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ เพราะฉะนั้นให้ระวังในเรื่องของปริมาณที่ทาน
2. ปลาไหล △ เนื่องจากมีวิตามิน A รวมอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ให้ระวังเป็นพิเศษ ใน 1 วันกำหนดทานที่ประมาณ 40-50 กรัม
3. หอย ○ แต่ทางที่ดีควรทานที่ผ่านการปรุงให้สุกแล้วจะดีที่สุด
4. ตับ △ เนื่องจากมีวิตามิน A รวมอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ให้ระวังเป็นพิเศษ ตับหมู ตับไก่ใน 1 วันกำหนดทานที่ประมาณ 4 กรัม  ส่วนตับวัวใน 1 วันกำหนดทานที่ประมาณ 50 กรัม 
5. เนื้อม้าดิบ แฮมดิบ △ ทานเป็นบางครั้งได้ แต่ควรที่จะปรุงให้สุกจะดีที่สุด และเนื่องจากมีวิตามิน A รวมอยู่ ในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ให้ระวังเป็นพิเศษใน 1 วัน วันกำหนดทานที่ประมาณ 50 กรัม
6. เนย มาการีน  ○  แต่เนื่องจากมีแคลอรีสูง ไม่ควรที่จะทานเยอะ
7. ไส้กรอก แฮม อาหารแช่แข็ง บะหมี่สำเร็จรูป  △เนื่องจากมีสัดส่วนของเกลือในอาหารเยอะ ไม่ควรทานติดต่อกัน
8. ไข่ดิบของที่ญี่ปุ่น  ○ เนื่องจากมีการควบคุมเรื่องของอนามัย ถ้าเป็นไข่ดิบสด ๆ ก็คงไม่มีปัญหาเรื่องอาหารเป็นพิษ
9. อาหารที่ใช้เครื่องปรุงประเภทพริกหรือกิมจิ △ ถ้าทานในปริมาณที่เคยทานมาก่อนก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าทานในปริมาณมาก ๆ จะทำให้กระเพาะอักเสบและริดสีดวงทวารเพราะฉะนั้นไม่ควรทานในปริมาณที่มาก
10. ช็อคโกแลต, โกโก้ ○ ถ้าระวังในเรื่องของน้ำตาลอยู่แล้วก็สามารถทานได้ ถึงจะมีสารคาเฟอีนรวมอยู่ด้วย ถ้าทานในปริมาณที่ปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร

-เครื่องดื่ม :
1. เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ  △  ดื่มได้แต่ให้จำกัดที่ปริมาณ ใน 1 วันควรดื่มที่ประมาณ 1 ถ้วย
2. น้ำอัดลม  △ ดื่มได้ แต่เนื่องจากมีน้ำตาลเยอะ ให้จำกัดปริมาณ
3. ชาสมุนไพร × แต่ถ้าระบุว่าคนท้องก็สามารถดื่มได้ก็ให้เลือกที่ระบุว่าสามารถดื่มได้จะดีกว่า

ปล. บางเรื่องถึงเขาจะเขียนว่าได้แต่ถ้าเรายังกังวลอยู่เราก็เลี่ยงเหมือนกันเพื่อความสบายใจ  ก็ถือเป็นข้อมูลแล้วกันนะคะ
ส่วนหัวข้ออื่น ๆ จะทยอยอัพน้า









วันพุธที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์)

 วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 10 (อายุครรภ์ 33 สัปดาห์) ครั้งนี้คุณซูก็ไม่ได้ไปด้วยเพราะติดงาน ไปถึงโรงพยาบาลก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ บัตรประกันสุขภาพ จากนั้นก็ไปวัดความดัน แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ ความดันที่วัดได้อยู่ที่ 101/62 ลดลงจากครั้งที่แล้ว จากนั้นก็นั่งรอเรียก พอเจ้าหน้าที่เรียกแล้วก็เข้าห้องตรวจชั่งน้ำหนักอยู่ที่ 68.5 (ครั้งที่แล้ว  67.1) เจอคุณหมอพูดเลยว่าน้ำหนักขึ้นเยอะ หลังจากนี้ให้ควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2-3 กิโล แล้วคุณหมอก็พูดว่าท้องคงหนักน่าดู คงเห็นท้องเราใหญ่มั้งนะ เราก็สังเกตผู้หญิงญี่ปุ่นที่ท้องส่วนใหญ่ท้องจะเล็ก ๆ กันแหละ อย่างเวลาเราเดิน ๆ ข้างนอกก็มีคนมองมาเหมือนกัน ไม่รู้มองที่ว่าท้องเราใหญ่ หรือว่ามองเพราะอย่างอื่น แต่ก็ช่างเหอะเนอะ

จากนั้นคุณหมอวัดช่วงท้องให้พยาบาลจดที่สมุด แล้วก็จับที่ขาเราแล้วก็พูดว่า Puramai (ปกติจะพูดว่า Mukumi nashi = ขาไม่บวม) ก็แสดงว่าคงมีอาการบวม แล้วก็มาซาวด์ดูหน้าจอ ครั้งนี้คุณหมอก็ให้ดูส่วนหัว วัดความกว้าง ยาว ให้ดูช่วงท้อง ดูช่วงขา ทุกอย่างปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร แล้วก็ให้ดูหัวใจเต้น ฟังเสียงหัวใจเต้น น้ำหนักของเจ้าหนูในวันนี้อยู่ที่ 2,100 กรัม คุณหมอบอกว่าเป็นไปตามเกณฑ์ แต่ให้คุณแม่คุมน้ำหนัก เพราะถ้าน้ำหนักเกิน 15 กิโลไปแล้วจะยิ่งทำให้คลอดยากขึ้น ก็เป็นอันเสร็จการตรวจซาวด์ในครั้งนี้

ก็มาพูดคุยกับคุณหมอ สิ่งที่เราถามคุณหมอในครั้งนี้ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการติดเชื้อ GBS ที่คุณหมอแจ้งผลเมื่อครั้งที่แล้ว คำถามที่เราถามก็คือหลังจากทานยาไปแล้วตรวจครั้งต่อไปไม่พบเชื้อ แต่ว่าจะมีความเป็นไปได้ไหมที่ตอนคลอดเชื้อจะกลับมา ซึ่งคำตอบของคุณหมอก็คือถ้าทานยาแล้วเชื้อหายไปก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าถ้ายาก็ช่วยไม่ได้ ยังมีเชื้ออยู่ ตอนคลอดก็จะทำการให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดเพื่อเป็นการเพิ่มภูมิให้กับทารก ซึ่งคุณหมอบอกว่าเท่าที่ผ่านมาที่โรงพยาบาลก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วหลังจากคลอดแล้วก็จะทำการตรวจเลือดโดยตรวจจากสะดือของทารก ก็คงเป็นขั้นตอนการตรวจของโรงพยาบาลอ่ะเนอะ ฟังแบบนี้แล้วค่อยสบายใจหน่อย ส่วนเรื่องที่ต้องระวังตอนนี้ก็คือเรื่องน้ำหนัก (อีกแล้ว) เพียงเรื่องเดียว 

ก็เป็นอันเสร็จการตรวจในครั้งนี้ นัดครั้งต่อไปอีก  2 อาทิตย์

ในตอนที่จ่ายเงินค่าตรวจ เราก็จองคอร์สอบรมสำหรับของทั้งพ่อและแม่ (3 ครั้งแรกจะแค่แม่อย่างเดียว) เนื่อหาของคอร์สสำหรับพ่อและแม่ก็จะเกี่ยวกับการที่คุณพ่อเข้าไปในห้องคลอดด้วย และก็จะให้เดินดู ๆ ห้องคนไข้ ซึ่งวันที่อบรมคุณพ่อก็ต้องมาด้วยกัน 

ค่าตรวจในวันนี้ 1,870 เยน 

พอกลับมาที่บ้านก็มาดูสมุดสุขภาพแม่และเด็ก ครั้งนี้อีกแล้วที่ช่อง 浮腫 (อาการบวม) ผลจากการตรวจปัสสาวะ พยาบาลวงที่เครื่องหมาย - และ + ปกติจะแค่เครื่องหมาย - สงสัยครั้งนี้คงบวมนิดหน่อยมั้งนะ เพราะก่อนหน้านี้ ตื่นมาตอนเช้าเหมือนจะเป็นตะคริวที่ขา พอเริ่มรู้สึกเจ็บ ๆ เราก็พยายามยกขาสูงขึ้นนิดนึง อาการก็หายไป 

ส่วนอาการอื่น ๆ โดยรวมในช่วงนี้ :

- เริ่มเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น กลางคืนก็ตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าช่วงไตรมาสที่ 2 จะคล้าย ๆ ตอนตั้งท้องใหม่ ๆ เข้าห้องน้ำถี่เชียว

- การดิ้นของเจ้าหนูจะถี่ขึ้น โดยเฉพาะตอนเย็น - กลางคืน มีปูด ๆ ขึ้นมาบางทีก็ด้านซ้ายบ้างด้านขวาบ้าง แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปมือ หรือเท้า 

- ง่วงนอนมากขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้นมีปวดจิ๊ด ๆ เหมือนหายใจไม่ทันตอนที่เราออกกำลังกาย อย่างขึ้นลงบันได ก็เหนื่อยแล้ว