วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 6 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 24 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้ไปโรงพยาบาลมีนัดตรวจครรภ์ครั้งที่ 6 (อายุครรภ์ 24 สัปดาห์กว่า ๆ)
ไปถึงโรงพยาบาล ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ  ไม่ได้ยื่นบัตรประกันสุขภาพเพราะยังไม่ใช่เดือนใหม่ของการมาตรวจ
แล้วก็ไปเก็บปัสสาวะ วัดความดัน จากนั้นพยาบาลก็เรียกเข้าห้องสำหรับเจาะเลือด ครั้งนี้เก็บไป 3 หลอด ซึ่งจะนำไปเช็คว่ามีเชื้อมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือไม่ เพราะสามารถติดได้ทางการให้นมแม่
นำไปเช็คว่าเลือดจางหรือไม่  และเช็คค่าน้ำตาลในเลือด

หลังจากนั้นก็ชั่งน้ำหนัก แล้วก็รอพบคุณหมอ คุณหมอมาเห็นน้ำหนัก ทำหน้าเครียดเลย เพราะน้ำหนักเราขึ้นจากก่อนท้องมา 8.5 กิโล ซึ่งเกณฑ์ของคุณหมอคือ 8-12 กิโล เพราะหลังจากนี้น้ำหนักก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น คุณหมอเลยให้ควมคุมน้ำหนัก ลดปริมาณอาหารลง
หลังจากนั้นก็อัลตราซาวด์ดู เด็กตัวใหญ่ขึ้นมากเลย อาจจะเป็นเพราะน้ำหนักแม่ขึ้นเยอะด้วย เลยทำให้เด็กตัวใหญ่ ครั้งนี้คุณหมอจะให้ดูส่วนหัว เน้นให้ดูจมูก ปาก แล้วก็ให้ฟังเสียงหัวใจเต้น ทั้งหมดปกติ แข็งแรงดี แล้วคุณหมอก็บอกผลการตรวจเลือดไม่มีปัญหาเลือดจาง แอบเห็นตัวเลขอยู่ที่ 11 กว่า ๆ ส่วนผลของตัวอื่นยังไม่ออก   แล้วก็แอบเห็นคุณหมอเขียน 800 กว่า ๆ น่าจะเป็นน้ำหนักของทารก
แล้วคุณหมอก็ถามว่ามีอะไรจะถามไหม เราก็บอกไปว่าช่วงนี้จะปวดหน่วง ๆบริเวณช่วงล่าง บริเวณก้น ทางด้านซ้าย คุณหมอก็เลยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเรื่องของท้องผูก ให้ดูอาการ
แล้วก็นัดครั้งต่อไปอีก 2 อาทิตย์  คุณหมอพูดมาเลยว่าครั้งที่มาตรวจคราวหน้าไม่ควรขึ้นเกิน 1 กิโล เฮ้อ

ก่อนกลับคุณหมอให้ไปฟังพยาบาลพูดเรื่องของอาหาร แล้วก็รับคู่มือแนะนำเรื่องอาหารในตอนที่ตั้งครรภ์ และแฮนบุ๊คสำหรับการไปทานข้าวนอกบ้าน พยาบาลเขียนมาเลยว่า BMI ของเรา 21.0 น้ำหนักมาตรฐานจะอยู่ที่ 58.4 กิโล เพราะฉะนั้นปริมาณพลังงานที่จำเป็นต่อวันจะอยู่ที่ 1,700 Kcal
เราต้องควบคุมอาหารให้อยู่ในเกณฑ์นี้เหรอเนี่ย ><
ในคู่มือก็จะบอกมาว่าใน 1 วันควรจะทานอะไรบ้าง ปริมาณเท่าไหร่
บอกวิถีการทานอาหาร คือ
1. ทานอาหารครบ 3 มื้อ
2. เคี้ยวช้า ๆ ละเอียด ๆ
3. ก่อนนอน 2 ชั่วโมงไม่ให้ทานอะไร
4. ให้ออกกำลังกาย
5. อาหารที่ใช้น้ำมันเยอะ ให้ทานพอดี ๆ
6. ให้ระวังในการทานขนมขบเคี้ยว ของว่าง
7. ให้หันมาทานอาหารจำพวกที่ไม่มีแคลอรี่ อย่างเห็ด บุก สาหร่าย
8. ไม่ทานอาหารรสจัด
9. ไม่ใช้พวกน้ำปรุงรส ซอสในปริมาณที่เยอะ

ส่วน แฮนบุ๊คสำหรับการไปทานข้าวนอกบ้าน ก็จะเขียนประมาณว่า เมนูอาหารนี้ให้พลังงานกี่กิโลแคลอรี่ คงประมาณว่าให้เลือกทานที่ให้พลังงานไม่สูงมาก

ต้องควบคุมอาหาร น้ำหนักแล้วสิเรา

ค่าตรวจในวันนี้ 3,720 เยน







ปลูกมะเขือเทศ

เราเป็นคนนึงที่ชอบทานมะเขือเทศมาก ๆ แต่ที่ญี่ปุ่นขายแพ็คนึง (มีประมาณ 12-15 ลูก) ประมาณ 200 เยน ทานไปแป๊ปเดียวหมดหล่ะ เลยกะจะลองปลูกเองดูว่าจะออกเยอะหรือเปล่า เมื่อปีที่แล้วก็ซื้อมะเขือเทศที่เป็นแบบเมล็ดมา โตออกดอกแล้วก็ออกลูกนะ แต่ว่าไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ ออกลูกมานิดเดียวเอง  ปีนี้คุณซูเลยลองใหม่ แต่คราวนี้ซื้อแบบที่เขาขายเป็นต้นมาแล้ว น่าจะโอเคกว่า
ขายต้นละ 265 เยน


แล้วก็มีซื้อต้นสีแดง กับ สีชมพูมา (กระถางแขวน 2 อันทางขวามือ) ไม่รู้เรียกว่าต้นอะไร เป็นต้นที่ทนมาก จากที่เคยปลูกเมื่อปีที่แล้วดอกแทบจะไม่ร่วงเลย
ขายต้นละ 75 เยน


ส่วนต้นสูง ๆ ดอกสีเหลือง ๆ เรียกว่าต้น Nanohana


แล้วก็ต้นซากุระ (กระถางที่มีหลอดเหลือง ๆ ปักอยู่) ที่เราเห็นตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้ออกดอกแล้ว (แต่ไม่เยอะ ) ^^




วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

เตรียมของเด็ก-หมวดผ้าอ้อม

พอเตรียมเสื้อผ้าเด็กแล้ว ก็มาเรื่องผ้าอ้อม
เราจะพยายามใช้ผ้าอ้อมแบบผ้าในช่วงกลางวัน แล้วค่อยใช้แบบสำเร็จรูปในช่วงกลางคืน หรือตอนออกไปข้างนอก น่าจะประหยัดไปได้พอสมควร
ที่ซื้อมาแล้วก็จะมี

1. กางเกงผ้าอ้อม (おむつカバー) ซื้อมาทั้งหมด 4 ตัว


 แพ็ค 2 ตัวด้านล่างนี้ซื้อที่ Nishimatsuya ไซส์ 50-60 ราคา 1,498 เยน



ตัวลายสีน้ำเงินนี้คุณซูเลือกให้เลย 555 ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 980 เยน


ตัวสีขาวซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 980 เยน



แกะออกมาแล้ว หน้าตาจะแบบนี้

2. แผ่นรองซับ (布おむつ) ซื้อมาทั้งหมด 26 ผืน (แต่คิดว่าคงไม่พอ เดี๋ยวไปซื้อแพ็ค 10 ชิ้นมาเพิ่ม)


 2 แพ็คนี้ซื้อจากร้าน Nishimatsuya แพ็คนึงมี 10 ผืน ไซส์ S-M (เขาบอกว่าใช้ได้ถึงอายุ 6 เดือน) 
แพ็คละ 1,599 เยน 



พอแกะออกมาหน้าตาจะเป็นแบบตามรูปล่าง จะวางบนกางเกงผ้าอ้อม สำหรับรองซับพวกอึหรือฉี่



 แพ็คสีชมพูนี้ก็เป็นแผ่นรองซับ แต่พอคลี่ออกมาผืนค่อนข้างใหญ่เหมือนกัน มีทั้งหมด 6 ผืน ซื้อที่ Akachanhonpo ราคา 1,480 เยน


 คลี่ออกมาเป็นแบบนี้ ก็ต้องพับทบทั้งหมด 2 ชั้นให้ได้ขนาดเท่ากับกางเกงผ้าอ้อม


3. กระดาษรองอึ (おむつライナー)

ซื้อที่ร้าน  Akachanhonpo มีทั้งหมด 220 แผ่น ราคากล่องละ 680 เยน

 

4. ผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำหรับเด็กแรกเกิด 1 แพ็ค (紙おむつ) มี 68 ชิ้น ราคา 1,280 เยน




 5. ทิชชูเปียกเช็คก้น (おしりふき)

ลองซื้ออันนี้มาใช้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าเด็กจะแพ้หรือเปล่า กล่องนี้มี 50 แผ่น ราคา 399 เยน
แต่น่าจะไม่พอแน่ ๆ คงต้องไปซื้อมาเพิ่ม


6. ที่รองสำหรับไว้เปลี่ยนผ้าอ้อม อย่างตอนออกไปข้างนอก (おむつ替えシート)

พอคลี่ออกมาจะขนาดเท่ากับเบาะเล็ก ๆ ซื้อที่ร้าน Akachanhonpo ราคา 1,542 เยน


7. ถุงใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้แล้วสำหรับทิ้ง (ตอนออกไปข้างนอก) หรือไว้ใส่ผ้าอ้อมผ้าที่เปียก เพราะสามารถเก็บกลิ่นได้ (おむつ処理用ポリふくろ) ซื้อที่ร้าน Nishimatsuya ราคา 159 เยน



8. ถังใส่ผ้าอ้อมที่ใช้แล้ว
เราซื้อมา 2 ใบ สำหรับผ้าอ้อมที่เปื้อนฉี่ กับผ้าอ้อมที่เปื้อนอึ ซื้อจากร้าน 100 เยน


9. น้ำยาซักผ้า(おむつ、肌着洗い洗剤)
ไม่รู้ว่ายี่ห้อไหนดี เลยซื้ออันนี้มาลองใช้ดูก่อน เป็นแบบเซ็ทคือมีรีฟิวด้วย ราคาอยู่ที่ 1,007 เยน


10. ไม้แขวนเสื้อสำหรับเด็ก (赤ちゃんハンガー)
มี 12 อัน ราคา 409 เยน



ในหมวดนี้น่าจะไม่มีอะไรแล้วน้า...



เตรียมของเด็ก - หมวดเสื้อผ้าและผ้าชิ้นเล็ก ๆ

พอท้องได้ 7 เดือน (นับแบบญี่ปุ่น) ก็เริ่มที่จะหาซื้อของใช้สำหรับเด็ก แล้วก็ของตัวเอง
โชคดีที่ไปเจอนิตยสารเล่มนึงที่จะบอกถึงว่าน่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง อย่างถ้าเด็กคลอดช่วงเดือนนี้ ๆ จะมีของอะไรบ้าง ถ้าเป็นที่เมืองไทยร้อนตลอดปีไม่ต้องดูเรื่องอากาศก็ดีเหมือนกันเนอะ  แต่ที่ญี่ปุ่นมีเรื่องของฤดูเข้ามา แถมเด็กก็โตเร็ว (มีคนบอกมานะ) ก็เลยไม่ค่อยอยากซื้ออะไรมาก อย่างของเราจะคลอดประมาณเดือน ก.ค. ของที่เราเตรียมก็จะมี

หมวดเสื้อผ้าเด็ก (ไซส์เด็กแรกเกิดถึงประมาณ 2 เดือน จะอยู่ที่ 50~60)

1. 短肌着 แบบแขนสั้น  6 ตัว, แบบแขนยาว 1 ตัว

(รูปบนแพคนี้เป็นแบบแขนสั้น มี 2 ตัว ราคา 780 เยนซื้อจากร้านอะคะจังฮมโปะ)

(รูปแพคบนนี้เป็นแบบแขนยาว มี 1ตัว ราคา 780 เยนซื้อจากร้านอะคะจังฮมโปะ)

 (รูปแพคบนนี้เป็นแบบเซ็ท มีหลาย ๆ อย่างปนกัน ทั้งหมด 10 ชิ้น ถ้าเป็น 短肌着 จะมี 4 ตัว ราคา 1,799 เยน ซื้อจากร้านนิชิมะสึยะ) 


2. 長下着 1 ตัว, コンビ肌着 4 ตัว, 半袖コンビドレス 1 ตัว

จะมีที่อยู่ในเซ็ท 10 ชิ้น แล้วก็ที่ซื้อแยกแบบนี้

(รูปแพคบนนี้จะเป็น コンビ肌着 มี 2 ตัว ราคา 899 เยน ซื้อจากร้านนิชิมะสึยะ) 


 (รูปนี้จะเป็น 半袖コンビドレス มี 1 ตัว ราคา 779 เยน ซื้อจากร้านนิชิมะสึยะ) 


ผ้าชิ้นเล็ก ๆ ที่ควรมี

1. หมวก (ใช้ของคุณซูตอนเล็ก ๆ) ^ ^
2. ถุงเท้า 1 คู่ 
3. ถุงมือ (ミトン) 1 คู่ (มีอยู่ในเซ็ท 10 ชิ้น ตามรูปด้านบน)
4. ผ้ากันน้ำลาย (スタイ หรือ よだれかけ) 2 ชิ้น  (มีอยู่ในเซ็ท 10 ชิ้น ตามรูปด้านบน)
5. ผ้าห่อตัวเด็ก (おくるみ)=> โรงพยาบาลจะมีให้ตอนออกจากโรงพยาบาล ก็เลยยังไม่ซื้อ



รูปข้างล่างนี้จะเป็นของคุณซู คุณแม่เขาเก็บอย่างดีเลย ^0^



ส่วนหมวดอื่น ถ้าเตรียมครบแล้ว จะทยอยอัพนะคะ ^^



 



วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

คู่มือแนะนำในเรื่องการคลอดที่โรงพยาบาล (แล้วแต่ที่นะ) (入院案内)

พออายุครรภ์ครบ 7 เดือน (นับแบบญี่ปุ่น) ถ้านับไทยก็ 6 เดือน ก็จะเป็นช่วงที่ต้องเตรียมของตอนที่เราอยู่โรงพยาบาล  ของใช้สำหรับเด็ก และของตอนที่ออกจากโรงพยาบาล
ก่อนอื่นเราก็เอาเอกสาร (คู่มือแนะนำในเรื่องการคลอดที่โรงพยาบาล (入院案内)) ที่ได้รับจากโรงพยาบาลเมื่อตอนไปตรวจครรภ์ครั้งที่ 4 มาดูอีกครั้งนึง เพราะจะมีของบางอย่างที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว เราจะได้ไม่ต้องเตรียมเยอะ
เนื้อหาในเอกสารจะมีเรื่อง
-การตรวจครรภ์
โดยปกติแล้วตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงอายุครรภ์ 23 สัปดาห์ จะตรวจ 4 สัปดาห์ต่อครั้ง
แล้วพออายุครรภ์ 24 สัปดาห์ จนถึง 35 สัปดาห์ จะตรวจ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง
แล้วพออายุครรภ์ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป จะตรวจ 1 สัปดาห์ต่อครั้ง
แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ อย่างเลือดออก น้ำคร่ำเดิน ท้องแข็งเป็นเวลานาน ก็ต้องรีบไปหาหมอ


-สัญญาณแสดงว่าใกล้คลอด
น้ำคร่ำเดิน, เลือดออก, ถ้าเป็นท้องแรกจะมีอาการปวดท้องคลอด 10 นาทีต่อครั้ง ถ้าไม่ใช่ท้องแรกจะมีอาการปวดท้องคลอด ตั้งแต่ 10 นาที - 15 นาทีต่อครั้ง
※แต่ถ้ามีอาการที่ผิดปกตินอกเหนือจากนี้ แล้วไม่ใช่ช่วงเวลาที่ตรวจของทางโรงพยาบาล ก็จะต้องโทรศัพท์ไปก่อน


-ของที่ต้องเตรียมไปตอนที่เข้าโรงพยาบาล (แล้วแต่โรงพยาบาล)
สิ่งที่เราต้องเตรียมไปเอง : สมุดสุขภาพแม่และเด็ก, บัตรประกันสุขภาพ, บัตรคนไข้, อิงคัง (ตราประทับชื่อหรือนามสกุลของเรา), เข็มขัดคาดเอวหลังคลอด 



ของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ (แล้วแต่โรงพยาบาล)
ชุดนอน (お寝巻)、ผ้าขนหนู (バスタオル)、ผ้าขนหนูสำหรับเช็ดหน้า (フェイスタオル)ซึ่งจะเปลี่ยนให้ทุกวัน,
เสื้อคลุมยาว (ガウン)、กางเกงใน (ショーツ) 2 ตัว、เสื้อใน (ブラジャー)2 ตัว、แผ่นซับน้ำนม (マニーパット)、ผ้าอนามัย (ナプキン(LSM))、ตะเกียบ (お箸)、ของใช้อย่างแปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, ที่แปรงผม, ถ้วยน้ำ, ทิชชู) (洗面用具:ハブラシ、歯磨き粉、ヘヤーブラシ、コップ、ティッシュ)、สลิปเปอร์ (スリッパ)、
เซ็ทของที่จำเป็นในการคลอด (お産セット)、สำลีทำความสะอาด (清浄綿、消毒綿)
※ในตอนที่ออกจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะมีเตรียมเบบี้แวร์ (ベビーウェアー)、ผ้าห่อตัวเด็ก (おくるみ)、ของขวัญในการคลอดลูกไว้ให้
※ที่ห้องอาบน้ำ จะมีพวกยาสระผม สบู่อาบน้ำ โลชั่นเตรียมไว้ให้


-ระยะเวลาในการอยู่โรงพยาบาล
ประมาณ 5 วัน วันที่คลอดถือเป็น 1 วัน
ในกรณีที่ผ่าคลอดจำนวนวันที่อยู่จะแตกต่างออกไป


ของที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ อาจจะดูเหมือนครบแล้ว แต่เราก็คิดว่าคงเตรียมของตัวเองไปด้วยเป็นการเผื่อจะได้ไม่ฉุกละหุกถ้าบังเอิญขาดขึ้นมา


แล้วก็ต้องดู ๆ ตามนิตยสารแม่ลูกว่าส่วนใหญ่เขาเตรียมอะไรสำหรับทารกบ้าง แล้วก็คงต้องทำเป็นรายการออกมา เพราะเคยไปเดิน ๆ ดู เลือกไม่ถูกว่าต้องใช้อะไรบ้าง ภาษาญี่ปุ่นเรียกแบบนี้หน้าตาเป็นยังไง เพราะอยากซื้อแค่ที่จำเป็นจริงๆ เพราะเดี๋ยวพอเปลี่ยนฤดูก็ต้องหาซื้ออีก
+กับเดี๋ยวเดือน เม.ย. นี้ภาษีผู้บริโภคขึ้นอีก 3 % เป็น 8% ของบางอย่างที่ใหญ่ ๆ หรือซื้อมาก่อนได้ ก็คงต้องรีบซื้อ  แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ไม่เป็นไร เพราะเอาที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ดีกว่า...เนอะ

























วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

เริ่มต้นทำสวนหลังจากที่หมดหน้าหนาวแล้ว (By คุณซู)

หลังจากที่หน้าหนาวผ่านไป คุณซูก็เริ่มที่จะทำสวนหละ นอกจากคุณซู เราก็เห็นผู้ชายข้างบ้านเริ่มทำสวนเหมือนกัน ตลาดต้นไม้เริ่มกลับมาคึกคัก คนเริ่มมาหาซื้อต้นไม้ไปปลูกกัน เราก็มีซื้อมาบ้างเหมือนกัน ให้คุณซูช่วยปลูกให้หละ ดอกไม้ 3 สี (จริง ๆ มีหลายสีมาก ๆ ) เป็นต้นไม้ที่ต้องการแดด
ชื่อดอกไม้ "เปจูนีอะ" (ペチュニア) ต้นละ 68 เยน






แล้วก็มาต่ออีกร้านนึง ร้านนี้มีขายดอกไม้เป็นช่อ ๆ แช่น้ำ มีต้นซากุระแช่น้ำด้วย คุณซูก็เลยซื้อมา ต้นละ 598 เยน กะจะดู Hanami (花見) ที่บ้าน แล้วค่อยลองเอาไปปลูกลงดิน แต่ไม่รู้ว่าจะขึ้นหรือเปล่า









ต้นซากุระที่บ้านก็มีดอกตูมหล่ะ แต่ยังเป็นต้นเล็กอยู่เลยออกไม่เยอะเท่าไหร่





ต้นทิวลิปกับซุยเซนก็โตขึ้นหล่ะ รอออกดอก (แต่ไม่รู้เมื่อไหร่) ^^






กำลังทำค้างอยู่เลย



เป็นรูปเป็นร่างมากกว่านี้เดี๋ยวมาอัพใหม่ ^^






















วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

ได้เข้าร้านซูชิแล้ว (หลังจากที่ไม่ได้เข้านานมาก ๆ)

ตั้งแต่ท้องก็ไม่ได้แวะไปทานซูชิหมุนเลย เพราะว่าเป็นปลาดิบอ่ะเนอะ ก็เลยเลี่ยงดีกว่า
ซึ่งจริงๆ แล้วทางเจ้าหน้าที่ที่อบรมคอร์สคุณแม่ก็บอกว่าทานได้ แต่ไม่ควรทานที่ปริมาณเยอะ ๆ 
ซึ่งอย่างนั้นก็เถอะ เราก็ขอเลี่ยงดีกว่า
จนวันนี้อดใจไม่ไหว ชวนคุณซูไปทานแต่ก็ต้องอดใจเลือกเฉพาะอย่าง อย่างวันนี้เราเลือกทาน
1. แซลมอนย่างขอบ (焼きはらす)  2 จาน
2. ปู (かににぎり)           1 จาน
3. กุ้งอะโวคะโด้  (えびアボカド)       1 จาน
4. ปลาไหล  (あなご)                     1 จาน
5. นัตโตะ   (納豆)                         1 จาน
6. ปลาอะจิ   (あじ)                        1 จาน
7. อุด้ง   (うどん)                           1 ชาม

จริง ๆ เราจะชอบ มะงุโระ มาก ๆ แต่เพราะเป็นปลาตัวใหญ่ (ปลาตัวใหญ่จะมีพวกสารปรอทเยอะกว่า) ก็เลยต้องอดใจไว้ก่อน 

แล้ววันที่  28 มี.ค. เอาอีกแล้ว เข้าร้านอีกรอบ (><) คราวนี้ก็ทาน

1. แซลมอนย่างขอบ (焼きはらす)  1 จาน
2. ปู (かににぎり)           1 จาน
3. กุ้งอะโวคะโด้  (えびアボカド)       1 จาน
4. ปลาไหล  (あなご)                     1 จาน
5. นัตโตะมาคิ   (納豆巻)                0.5 จาน เพราะแบ่งกับคุณซู
6. ปลาอิวะชิ (真いわし)                  1 จาน
7. อิกะเทมปุระ (いか天手巻寿司)   1 จาน

เราถ่ายเมนูมาดูประกอบด้วย จะได้รู้ว่าหน้าตาเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวครั้งต่อไป จะทานที่เมนูที่ยังไม่เคยลองมาก่อน  จะได้ลดความอยากลงได้บ้าง อิอิ
หลังจากทานเสร็จ เจ้าหนูนี่ดิ้นตอบรับเลยสงสัยคงชอบ^-^






วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมแม่ของสำนักงานเขต ครั้งที่ 4 (พูดเกี่ยวกับการเจ็บเตือน และการคลอด)

ไปฟังครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว แต่หลังจากคลอดเหมือนทางสำนักงานเขตก็จะมีไปรษณีย์บัตรนัดให้ไปเจอกันกับพวกแม่ ๆ เพราะพอจบการอบรมครั้งนี้ ก็มีไปรษณีย์บัตรเปล่ามาให้เขียนชื่อและที่อยู่ เพื่อจะได้แจ้งกำหนดการมาให้เราได้

เนื้อหาของการอบรมครั้งนี้ ตอนแรกก็จะให้เราดูวีดีโอตอนที่คลอด  โดยจะเน้นให้ดูตอนที่คลอดว่าจะต้องหายใจเข้า หายใจออกยังไง ตอนที่หัวเด็กออกมาแล้วให้ทำยังไง พอดูเสร็จรู้สึกกลัวแล้วก็กังวลขึ้นมาเลย กลัวเจ็บ กังวลว่าเราจะทำแบบนั้นได้หรือเปล่า...

เจ้าหน้าที่บอกว่าช่วงที่เบ่ง พอสูดลมหายใจเข้าไปแล้ว ตอนที่จะเบ่งออกให้ปิดปาก เพราะถ้าเปิดปากหายใจออกลมเบ่งก็อาจจะผ่อนลงไปด้วย (ถ้าฟังแล้วเข้าใจไม่ผิดนะ ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
แล้วช่วงที่หัวของเด็กเริ่มออกมาแล้ว ไม่ต้องหายใจเข้าแรง ๆ ให้พยายามมองด้านล่าง เพราะช่วงนี้หัวเด็กจะออกมา แล้วก็พยายามอย่าปิดตา เพราะเหมือนถ้าเราปิดตา แรงมันจะขึ้นไปที่ตาด้วย (ถ้าฟังแล้วเข้าใจไม่ผิดนะ ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)

หลังจากที่ดูวีดีโอจบแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะพูดถึงเรื่องของการเจ็บเตือน
ในเอกสารที่ได้รับแจก จะบอกว่าการคลอดจากกำหนดวันคุณหมอบอกล่วงหน้าก่อน 3 อาทิตย์หรือช้ากว่านั้น 2 อาทิตย์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ในการเจ็บเตือนนั้นจะทิ้งช่วงเจ็บท้องประมาณ 2-3 ชั่วโมงแล้วค่อยปวดใหม่ประมาณ 10-15 นาทีสำหรับท้องแรก แต่ถ้าคนที่เคยคลอดมาแล้วจะทิ้งช่วงเจ็บท้องประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงแล้วค่อยปวดใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้ถือเป็นสัญญาณเตรียมคลอด ช่วงนี้ก็อาจจะเช็คของใช้ที่จะต้องนำไปโรงพยาบาลว่าเรียบร้อยดีมั้ย แต่ถ้ามีน้ำไหลออกมาให้รีบติดต่อโรงพยาบาล แล้วลองไปโรงพยาบาลดู ถ้าไม่มีอะไรคุณหมออาจจะให้กลับบ้านไปก่อน
แต่ถ้าเจ็บทุก ๆ 7-10 นาทีในท้องแรก และ 10-15 นาทีสำหรับคนที่เคยคลอด ให้ดูอาการประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าเจ็บรุนแรงขึ้นให้รีบไปโรงพยาบาล

และมีเรื่องนึงที่เราก็เพิ่งรู้จากเจ้าหน้าที่ว่า ตอนที่คลอดนอกจากแม่แล้วที่พยายามเบ่งคลอด เด็กเองก็พยายามที่จะออกมาเหมือนกัน ฟังแบบนี้แล้วก็รู้สึกทั้งแม่และเด็กต่างก็พยายามด้วยกันทั้งคู่เลย ^0^

ปล. หลังจากที่คลอดแล้วอกจะร้อน ๆ ประมาณ 3-4 วัน
ถ้าต้องการจะให้ปากมดลูกเปิดง่ายขึ้นเพื่อเตรียมคลอด ควรที่จะนวดหัวนม อกในอายุครรภ์ที่เดือน 10 (นับแบบญี่ปุ่น) ให้นวดบ่อย ๆ นวดเบา ๆ


เนื้อหาในวันนี้ก็มีประมาณเท่านี้

สิ่งที่นำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน







วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปอบรมคอร์สคุณแม่ของโรงพยาบาลครั้งที่ 2 (อาการผิดปกติในขณะตั้งครรภ์, อาหาร, กายบริหาร)

คอร์สคุณแม่ของโรงพยาบาลครั้งที่ 2 นี้จะสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ประมาณ 6-7 เดือน (นับแบบญี่ปุ่น)
เนื้อหาในครั้งนี้จะพูดถึงเรื่องอาการผิดปกติในขณะตั้งครรภ์  อาหารในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาส 2  อาหารตอนที่ให้นมลูก  และการบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอด


อาการที่ผิดปกติจะเน้นเรื่องการปวดท้อง ถ้าใน 1 วันปวด 2-3 ครั้งก็ถือว่าไม่เป็นไร ให้พัก แต่ถ้าใน 1 ชั่วโมง ปวด 2-3 ครั้งนี่ถือว่าไม่ดีให้ไปโรงพยาบาล


สำหรับในเรื่องอาหารในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้จะเน้นธาตุเหล็ก และแคลเซียม และก็ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้ครบ 3 มื้อ ใน 1 วัน


ส่วนในช่วงให้นมลูก อาหารที่ทำให้เลือดของแม่ไม่ข้นมาก ไหลดี จะมีพวกผัก พืชตระกูลถั่ว เนื้อสัตว์ สาหร่าย สารอาหารที่มี DHA. EPA
และผักนั้นควรที่จะทานในตอนเช้า และกลางวัน ไม่ควรที่จะทานตอนเย็น เพราะจะทำให้ร่างกายเย็น
และก็มีผักที่ทำให้ร่ายกายอุ่น เช่น กระเทียม หอม หัวไช้เท้า ขิง เป็นต้น


และสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่ต้องการจะควบคุมในเรื่องของอาหาร อยากให้น้ำหนักกลับมาเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่แนะนำให้คิดเรื่องนี้หลังจากที่คลอดไปแล้ว 3 สัปดาห์


สำหรับการบริหารร่างกายเพื่อเตรียมคลอดจะคล้าย ๆ ของที่สำนักงานเขตเลย (ตามลิ้งค์)
http://jipathajapan.blogspot.jp/2014/03/3.html


สิ่งที่เอาไปด้วยในวันนี้
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน
3. เอกสารที่ทางโรงพยาบาลแจกมาในครั้งแรก







วันพุธที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมแม่ของสำนักงานเขต ครั้งที่ 3 (พูดเกี่ยวกับฟัน และสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น)

ในครั้งที่ 3 นี้จะอบรมช่วงบ่าย ครั้งนี้ครึ่งแรกจะพูดถึงเรื่องการฟัน  ส่วนครึ่งหลังจะเป็นการสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น


เนื้อหาที่พูดถึงในช่วงแรก


ปัญหาเกี่ยวกับฟันที่จะเกิดขึ้นเป็นพิเศษในช่วงที่ตั้งครรภ์  เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุให้เป็นโรคปริทันต์ (โรคเหงือกอักเสบ) เพิ่มง่ายขึ้น นอกจากสาเหตุที่ว่าแล้ว ช่วงที่แพ้ท้อง หรือช่วงที่การทานอาหารที่เพิ่มมากขึ้น ก็ส่งผลให้การดูแลช่องปากเป็นไปได้ยากขึ้น


ปัญหาเกี่ยวกับฟันที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดและช่วงเลี้ยงลูก  หลังจากที่คลอดลูกแล้ว คงไม่มีเวลาพอที่การดูแลฟันของตัวเอง และคงไม่มีเวลาพอที่จะไปหาหมอฟัน ก็จะทำให้ฟันของแม่นั้นผุได้ง่าย เมื่อฟันของแม่ผุ ก็จะส่งผลไปถึงลูกด้วย


ซึ่งจริงๆ แล้ว การดูแลฟันของแม่เป็นยังไงตั้งแต่ตั้งท้อง ก็มีผลต่อฟันของลูกตั้งแต่ตอนที่ลูกอยู่ในครรภ์แล้ว เพราะฟันของทารกในครรภ์เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่ตอนที่อายุครรภ์ 6-7 สัปดาห์ ดังนั้นคุณแม่จะต้องดูแลฟันของตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง หลังอาหารและก่อนนอนควรแปรงฟัน  ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์  ในการทานอาหารควรที่จะค่อย ๆ เคี้ยว


ฟันของเด็กจะขึ้นเมื่อไหร่นั้น ไม่ต้องสนใจว่าขึ้นช้าหรือเร็ว เพราะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย แต่ถ้าฟันขึ้นช้ามากให้ไปปรึกษาแพทย์




หลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้ว ช่วงที่ทำให้ฟันผุถ่ายทอดไปยังเด็กได้ง่ายก็คือช่วงที่เด็กอายุ 19 เดือน - 31 เดือน อย่างตอนที่เราจะป้อนอาหารให้เด็ก หรือก่อนที่จะให้เด็กทานอะไร พ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงก็อาจจะเอาเข้าปากของตัวเองก่อน เป่าให้หายร้อน แล้วค่อยให้เด็กทาน  ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้แหละ จะเป็นการถ่ายทอดฟันผุของคน ๆ นั้น ให้กับเด็ก


สารอาหารที่จำเป็นต่อฟันจะมี โปรตีน วิตามิน A,C,D  แคลเซียม


การดูแลฟันของเด็กตั้งแต่ที่เริ่มมีฟัน - 1 ขวบครึ่ง ก็คือการแปรงฟันให้เด็กโดยเลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กอ่อน และพออายุครบ 1.5 ขวบแล้วก็พาไปตรวจฟัน


เนื้อหาที่พูดถึงในช่วงหลัง จะเป็นการสอนท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น
ที่ญี่ปุ่นจะเน้นให้คลอดเอง จะไม่นิยมผ่าคลอด นอกจากกรณีพิเศษจริง ๆ เพราะฉะนั้นท่าที่สอนในวันนี้จะเป็นท่าที่ช่วยทำให้การคลอดง่ายขึ้น
ท่าขัดสมาธิ


 ท่าตั้งเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง แล้วยกก้นขึ้นแล้วลง




ท่ายกเข่าทั้ง 2 ขี้น แล้วก็เอียงวางกับพื้นข้างละ 5 - 10 ครั้ง พอทำเสร็จด้านนึง ก็ให้ทำแบบเดียวกันอีกด้านหนึ่ง


 ท่ายกเข่าข้างใดข้างหนึ่งขึ้น แล้ววางราบกับพื้นประมาณ 5 - 10 ครั้ง พอทำเสร็จด้านนึง ก็ให้ทำแบบเดียวกันอีกด้านหนึ่ง





ท่าแมว (รูปกลับด้านไปหน่อย) สูดหายใจเข้าแล้วก้มหน้า ให้หลังโก่ง ๆ แล้วก็เงยหน้าขึ้นพร้อมกับปล่อยลมหายใจออก ประมาณ 10 ครั้ง






ท่านอนที่ช่วยให้ผ่อนคลาย (รูปกลับหัวไปหน่อย) แล้วแต่ว่าคุณแม่ตะแคงนอนด้านไหนแล้วทำให้รู้สึกดี ก็นอนด้านนั้น



เนื้อหาวันนี้ก็ประมาณนี้ค่ะ

สิ่งที่ต้องนำไปในวันอบรม
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน










วันอังคารที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2557

โรคแพ้เกสรดอกไม้ที่มาพร้อมกับฤดูใบไม้ผลิ

เราเริ่มรู้สึกว่าช่วงกลางวันจะนานขึ้น สังเกตได้จากพระอาทิตย์ตกช้าลง ซึ่งก็เป็นการดี เพราะจะได้อุ่นขึ้น แต่เรากลับรู้สึกว่าไม่เห็นจะอุ่นขึ้นเลย อย่างดูพยากรณ์ช่วงอาทิตย์นี้ อุณหภูมิก็ยังคล้าย ๆ กับช่วงหน้าหนาวอ่ะ มีสูงบ้างก็แค่เล็กน้อย
แต่ว่าคุณซูไม่ค่อยดีใจเท่าไหร่ เพราะพอเข้าฤดูนี้ก็จะเป็นโรคแพ้เกสรดอกไม้ (คะฟุงโช) ซึ่งเราว่าอีกหน่อยเราก็คงจะเป็น เพราะเห็นคนไทยคนอื่น ๆที่มาอยู่นาน ๆ  ก็เป็นกัน ดูจากคุณซูแล้ว รู้สึกทรมานเหมือนกัน
อาการคือ
จามบ่อย มีน้ำมูกตลอด
คันตา
หายใจลำบาก

ช่วงนี้ก็เลยเปลี่ยนจากทิชชูที่เคยใช้ เป็น โลชั่นทิชชู




ซื้อยาหยอดตาสำหรับโรคภูมิแพ้มาใช้



ซื้อตัวนี้มาแปะที่จมูกตอนนอนเพราะช่วยลดการคัดจมูก




ซื้อยาลดน้ำมูก ลดการจาม (เป็นยากลุ่มสำหรับโพรงจมูกอักเสบ) (รูปกลับด้านไปหน่อย)




ดมยาดมที่เราซื้อมาจากไทย
บ้วนปากทุกครั้งหลังจากกลับมาจากข้างนอก






ช่วงนี้ถึงอากาศจะดีมาก ๆ แดดออก ก็จะต้องตากผ้าในบ้าน เพราะกลัวละอองเกสรปลิวมาติดที่เสื้อ
เดี๋ยวคุณซูกะว่าถ้าไม่ดีขึ้นก็คงต้องไปหาหมอ
ก็ขอให้หายเร็ว ๆ นะ





วันจันทร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 5 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์กว่า ๆ)

วันนี้มีนัดตรวจครรภ์ (อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ กว่า ๆ )
พอไปถึงเคาน์เตอร์ ก็ยื่นบัตรนัด บัตรคนไข้ สมุดสุขภาพแม่และเด็ก แล้วก็สมุดช่วยค่าตรวจ  จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะขอบัตรประกันสุขภาพ เพราะว่าเป็นการมาตรวจในเดือนใหม่
ขั้นตอนจากนั้นก็เหมือนเดิมคือ ไปเก็บปัสสาวะ แล้วก็วัดความดัน (ลืมบอกไปว่าที่ญี่ปุ่นจะให้เราความความดันเอง จะมีเครื่องวางอยู่แถว ๆ นั้น วัดเสร็จก็เอากระดาษที่ปริ้นท์ออกมายื่นให้พนักงาน)
จากนั้นก็รอเรียกพบคุณหมอ ระหว่างที่รอคุณหมอ (คุณหมอมีธุระที่ชั้น 2) นอนรอไปรอมา เริ่มปวดหลัง จริงๆ พยาบาลก็บอกให้นอนท่าสบาย ๆ แต่เราขี้เกียจพลิกไปพลิกมาเอง แหะ ๆ
พอคุณหมอมาถึงก็อัลตราซาวด์ดู ดูหลายมุม หลายด้านที่คุณหมอให้ดู  เจ้าหนูโตกว่าครั้งที่แล้วเยอะเชียว คุณหมอก็พูดว่า ครั้งต่อไปภาพถ่ายที่จะให้คงเห็นไม่เต็มตัวแล้ว เพราะเด็กจะโตขึ้นมาก
แล้วคุณหมอก็ให้ฟังเสียงหัวใจ เต้นแข็งแรงดี น้ำหนักของเจ้าหนูตอนนี้ก็ 398 กรัม คุณหมอไม่ได้พูดว่าตัวเล็กไปหรือใหญ่ไป แต่คุณหมอเตือนเราเรื่องน้ำหนักของแม่ เพราะจากครั้งที่แล้วที่มาตรวจ ผ่านไป 1 เดือน ขึ้นมาถึง 2.5 กิโล โดนคุณหมอให้ควบคุมน้ำหนัก (น้ำหนักก่อนท้องจนถึงตอนนี้ขึ้นมา 6.5 กิโล)
พอซาวด์เสร็จ เราก็มาปรึกษาคุณหมอเรื่องการตรวจฟันช่วงนี้ เพราะเริ่ม ๆ ปวดหน่อย ๆ เคยอ่านเจอว่าถ้าจะตรวจฟันให้ทำได้ประมาณช่วงอายุครรภ์ช่วงนี้ แต่คุณหมอที่นี่กลับไม่แนะนำให้ไปตรวจอ่ะ (ถ้าเป็นไปได้) เพราะเคยมีเคสที่ว่ามีคนไปตรวจที่คลินิคที่หนึ่งหลังจากนั้นก็ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าจะไปตรวจกับคลีนิคที่ผู้หญิงคนนั้นไปตรวจด้วยแล้ว คุณหมอยิ่งไม่แนะนำเลย
สรุปเราก็เลยไม่ไปตรวจฟันแหละ รักษาความสะอาดของฟันให้บ่อยขึ้นแทน
ก็เป็นอันเสร็จการตรวจครรภ์วันนี้ ค่าตรวจ 1,820 เยน
แล้วนัดครั้งต่อไปก็อีก 4 สัปดาห์


อ้อเราลืมบอกไปว่าตอนที่ไปตรวจครั้งที่ 4 เราก็ปรึกษาคุณหมอเรื่องเจาะน้ำคร่ำ คุณหมอไม่แนะนำอ่ะ เพราะอะไรเราก็ฟังไม่ค่อยทันเหมือนกัน ก็เลยถามคุณซูเพื่อความชัวร์ว่า คุณหมอไม่แนะนำใช่มั้ยแล้วคุณหมอพูดว่าอะไร  คุณซูก็บอกว่าใช่แล้วก็อธิบายมา ซึ่งเราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ดีว่าทำไม แล้วอีกอย่างคุณซูก็ไม่อยากให้เจาะด้วย ก็เลยไม่ได้เจาะ