วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของสำนักงานเขตครั้งที่ 2 (พูดเรื่องอาหารที่ควรทานใน 1 วัน)

ครั้งที่ 2 ก็ยังคงนั่งเป็นกลุ่ม ๆ แต่ไม่ค่อยให้พูดเหมือนครั้งที่แล้ว ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพูดถึงเรื่องของปริมาณอาหารที่จำเป็นในช่วงของการตั้งครรภ์ เอกสารที่ได้รับมาในครั้งนี้เยอะมาก จะบอกถึงว่าใน 1 วัน ควรทานอะไร ปริมาณกี่กรัม ถ้าทำได้อย่างที่เอกสารเขียนเราว่าก็ดีอ่ะนะ แต่เราคงทำไม่ได้แหง ๆ เลยคงเอาไว้มาดูอ้างอิงแล้วกัน
เริ่มจากการคำนวณหาพลังงาน (กิโลแคลอรี่) ปริมาณอาหารใน 1 วันที่จำเป็นต่อตัวเรา โดยวิธีคำนวณก็คือ
ขั้นตอนที่ 1  เอา ส่วนสูง (เมตร) * ส่วนสูง (เมตร) * 22  = น้ำหนักมาตรฐานของเรา


ขั้นตอนที่ 2  ให้นำน้ำหนักมาตรฐานของเรา * ค่ามาตรฐาน * ค่าระดับกิจกรรมประจำวัน = ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์
หมายเหตุของขั้นตอนที่ 2 ค่ามาตรฐาน ดูได้จาก ถ้าอายุ 18-29 ปี จะใช้ตัวเลข 22.1 มาคำนวณ,  แต่ถ้าอายุ 30-49 ปี จะใช้ตัวเลข 21.7 มาคำนวณ
ส่วนค่าระดับกิจกรรมประจำวัน ดูได้จาก ถ้ากิจกรรมประวันเป็นแม่บ้าน ทั้งวันจะนั่งเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ตัวเลข 1.3 มาคำนวณ
ถ้ากิจกรรมประจำวันมีเดินบ้าง ทำงาน ยืน ๆ จะใช้ตัวเลข 1.5 มาคำนวณ
และถ้ากิจกรรมประจำวัน ทั้งวันจะยืนเป็นส่วนใหญ่ ใน 1 ชั่วโมงทำงานหนัก จะใช้ตัวเลข 1.7 มาคำนวณ


ขั้นตอนที่ 3 ถ้าช่วงตั้งครรภ์ ให้นำปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ มาบวกกับตัวเลขต่อไปนี้ตามช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก ให้บวกเพิ่ม 50 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง ให้บวกเพิ่ม 250 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม ให้บวกเพิ่ม 450 กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก ให้บวกเพิ่ม 350 กิโลแคลอรี่


ตัวอย่างสมมุติว่าเราสูง 1.63 เมตร อายุ 30 ปี เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่จะนั่ง  ถ้าคำนวณตามข้างบนจะได้
ขั้นตอนที่ 1  =>   1.63 * 1.63 * 22 = 58.45
ขั้นตอนที่ 2  =>   58.45 * 21.7 * 1.3 =  1,648.87 กิโลแคลอรี่ ซึ่งจะเป็นปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก่อนตั้งครรภ์
ขั้นตอนที่ 3 => ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก 1,648.87+ 50 กิโลแคลอรี่  = 1,698.87 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง  1,648.87 + 250 กิโลแคลอรี่ =  1,898.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม  1,648.87 + 450 กิโลแคลอรี่ =  2,098.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก  1,648.87 +  350 กิโลแคลอรี่ = 1,998.87  กิโลแคลอรี่


จากวิธีคำนวณที่ว่ามา จริง ๆ เราก็ไม่ได้ดูละเอียดมากขนาดนี้ เพียงแต่รู้แค่เพียงว่า ที่ญี่ปุ่นเขาดูกันเป็นกรัม ๆ เป็นกิโลแคลอรี่กันเลย สุดยอดมาก ๆ
มิน่าถึงไม่ค่อยมีคุณแม่คนไหนที่อ้วนเลย (เท่าที่เห็นนะ)


ส่วนเรื่องน้ำหนักว่าควรขึ้นเท่าไหร่ ก็มีให้คำนวณด้วยนะ
คือเราจะต้องรู้ค่า BMI ของเราก่อน ซึ่งคำนวณได้จาก น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์  (กิโล) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) แล้วหารด้วยส่วนสูง (เมตร)
ยกตัวอย่าง น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์เรา 56 กิโล ส่วนสูง 1.63 เมตร
ค่า BMI = 56/1.63/1.63 = 21.077
ซึ่งถ้าค่า BMI อยู่ในช่วง 18.5 - 24.9 ถือว่าปกติ น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 7-12 กิโล
ถ้าค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไป ถือว่าอ้วน น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์ควรประมาณ 5  กิโล
ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5  ถือว่าผอม น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 9-12 กิโล
และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ลดให้เหลือเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์หลังจากที่คลอดแล้วประมาณ 6 เดือน


ก็คงเป็นเกร็ดความรู้ใหม่สำหรับเรา แต่เราจะทำได้ตามหรือเปล่านี่อีกเรื่องนึง 555


สิ่งที่ต้องนำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน

















วันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปศาลเจ้า Suitengu (水天宮) ขอพรให้คลอดปลอดภัย

ทางบ้านคุณพ่อคุณแม่ของคุณซูจะพาพวกเราไปไหว้ขอพรให้คลอดปลอดภัยที่ ศาลเจ้า Suitengu (水天宮)ในวันที่ 8 ก.พ. แต่วันนั้นพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีหิมะตกก็เลยเลื่อนออกไป ซึ่งวันนั้นหิมะตกหนักมาก ๆ ในรอบ 13 ปี (ของโตเกียว) ก็เลยเลื่อนมาเป็นวันนี้แทน (22 ก.พ.)
ที่เลือกวันนี้เพราะดูปฏิทินเขียนว่าเป็นวัน 大安 ถือว่าเป็นวันดี
พอไปถึงคนเยอะมาก มีทั้งที่กำลังท้อง แล้วก็มีทั้งที่อุ้มลูกมา เพราะที่ศาลเจ้านี้จะขึ้นชื่อในเรื่องของการมาขอพรให้คลอดปลอดภัย และพอคลอดแล้วก็จะพามาขอบคุณ
ขั้นตอนแรกพวกเราก็จะไปที่โต๊ะสำหรับเขียน จะมีกระดาษให้เขียนอยู่ 2 แบบ ของเราเป็นแบบขอพรให้คลอดปลอดภัย ก็จะมีเขียนชื่อตัวเอง แล้วก็เลือกชุดที่ต้องการจะซื้อ เราก็จำรายละเอียดไม่ได้แล้วว่าชุดไหนเท่าไหร่ เพราะเราเลือกที่มีผ้าคาดด้วย (เต็มชุด) ของก็จะได้ประมาณรูปด้านล่างค่ะ
(ขอบคุณรูปจาก Google นะคะ)


แล้วก็เข้าคิวยื่นกระดาษใบนี้ให้เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ก็จะให้ของชุดนั้นมาให้เรา แล้วก็เขียนชื่อเราลงในกระดาษ ซึ่งกระดาษนี้จะนำไปทำพิธี รวม ๆ ทั้งหมดก็ 9,000 เยน
พอถึงเวลาทำพิธีรอบของเรา ก็เข้าแถวแล้วก็เข้าไปในห้องทำพิธี คุณซูก็เข้าไปด้วย เขาจะมีแจกกล่องเหล้าของเทพเจ้าด้วย นอกจากเราแล้วก็จะมีคนที่ท้องคนอื่น ๆ กับสามีเขาเข้าไปด้วย
ในพิธี ผู้ทำพิธีผู้ชาย (เราก็ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไร) ก็จะทำพิธี  แล้วเจ้าหน้าที่ผู้หญิงในห้อง ก็จะบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ช่วงนี้ให้ก้มหน้าทำความเคารพ ขอพร ช่วงนี้ทำอย่างนี้ ในระหว่างพิธีผู้ทำพิธีมีอ่านชื่อของคนที่ท้อง มีชื่อเราด้วย คิดว่าน่าจะเป็นการขอพรเทพเจ้าให้กับพวกเราอ่ะนะ ได้ยินชื่อตัวเองแล้วรู้สึกดีจัง
พอพิธีเสร็จก็มีให้แสดงความเคารพ เราก็อาศัยมองคนข้าง ๆ ว่าเคารพกี่ที ตบมือกี่ครั้งช่วงไหน
สำหรับผู้ที่สนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เวปนี้นะคะ
http://www.suitengu.or.jp/honour/index.html
หลังจากกลับมาบ้านแล้ว เราก็นำเครื่องรางที่มีสีแดงคาดตรงกลางมาวางไว้บนที่สูง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ส่วนเครื่องรางที่มีเชือกห้อย ก็เก็บไว้ในกระเป๋าพร้อมกับสมุดสุขภาพแม่และเด็ก
ส่วนที่เป็นผ้าคาด ก็นำมาคาดท้องในวัน Inu no hi



วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังอบรมคอร์สคุณแม่ของทางสำนักงานเขต ครั้งที่ 1 (รกในครรภ์)

ที่สำนักงานเขตเขาก็มีอบรมคอร์สคุณแม่ฟรีเหมือนกัน มีทั้งหมด 4 ครั้ง ซึ่งก็ต้องโทรไปจองคอร์สเหมือนกัน
เขาจะจัดโต๊ะเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งก็คือจะให้มีการคุยกันในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรื่องของตัวเอง ฟังเรื่องของคนอื่น แล้วก็พูดให้กลุ่มอื่นฟังว่าเรื่องของคนกลุ่มนี้มีอะไรบ้าง เราเป็นคนต่างชาติคนเดียวในนั้น รู้สึกแปลก ๆ แต่ก็ถือว่ามาฟังเพื่อประโยชน์ของตัวเองอ่ะนะ
แล้วก็จากที่เราเป็นคนต่างชาติ ก็โชคดีไปที่ไม่ต้องเขียนสรุป แล้วก็ไม่ต้องเป็นตัวแทนพูดของกลุ่ม อิอิ
อย่างครั้งแรกนี้จะให้แนะนำตัวเอง บอกถึงเรื่องที่เราลำบากตอนท้องให้กับแม่ ๆ ในกลุ่มฟัง  แล้วเราก็ฟังแม่ ๆ ในกลุ่มพูดว่าลำบากอะไร ส่วนใหญ่จะก็เป็นเรื่องของการแพ้ท้อง
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะพูดเรื่อง "รกในครรภ์" ว่า
1.ทารกจะได้รับสารอาหารและออกซิเจนจากเลือดของแม่ และทิ้งคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียอย่างยูเรียโดยผ่านทางรก พูดง่าย ๆ ก็คือรกจะเป็นตัวฟิวเตอร์นั้นเอง เพราะของเสียที่ว่าจะส่งกลับไปที่เลือดของแม่โดยผ่านรก และท้ายสุดไตของแม่จะก็เป็นผู้จัดการ
2. รกจะไม่นำของเสียที่มีอยู่ในเลือดของแม่ไปสู่ทารก ยกเว้นแต่แอลกอฮอล์กับสารนิโคติน ทั้ง 2 ตัวนี้จะผ่านรกเข้าสู่ทารกได้


ครั้งที่ 1 ของทางสำนักงานเขตก็จะพูดประมาณเท่านี้


และสิ่งที่จะต้องนำไปด้วยก็มี
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก เพราะจะมีปั้มวันที่ที่เข้าอบรมลงในสมุดด้วย
2. อุปกรณ์การเขียน






วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

戌の日(いぬのひ) (ธรรมเนียมของญี่ปุ่นเมื่อตั้งครรภ์ได้สัปดาห์ที่ 16)

ที่ญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมที่ว่าพอตั้งครรภ์ได้ 16 สัปดาห์ ก็จะเลือกวันที่เป็นวัน 戌(いぬ)แล้วก็จะคาดผ้าคาดท้อง ผ้าคาดท้องจะคาดเพื่อรองรับน้ำหนักของครรภ์ เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกบั้นเอวขยายใหญ่มากเกินไป เพื่อป้องกันการตึงของมดลูก  เพื่อป้องกันไม่ให้ท้องเย็นช่วยให้ท้องอุ่น  ฯลฯ
ผ้าคาดเอวที่ขายตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไป หน้าตาก็จะประมาณนี้ มีหลายแบบ หลายสีให้เลือก ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 - 3,000 เยน






ส่วนวิธีการดูว่าวัน 戌(いぬ)ตรงกับวันที่เท่าไหร่ของเดือน เราก็จะดูว่าครบ 16 สัปดาห์ของเราตรงกับเดือนอะไร แล้วก็ดูที่ปฏิทินของเดือนนั้น ถ้าบ้านใครมีปฏิทินแขวนคล้าย ๆ ของจีนก็ให้ดูที่เขียนว่า いぬ แบบรูปข้างล่าง แต่ถ้าไม่มีก็เสริ์จจากอินเตอร์เน็ทก็ได้ค่ะ อย่างในรูปนี้วัน いぬ ก็จะตรงกับวันที่ 9


แล้วทำไมต้องเลือกวันที่เป็น いぬ เราก็ไปอ่านเจอ แต่ไม่รุ้ว่าจะแปลอ่านเข้าใจผิดหรือเปล่า ถ้าผิดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ
คือว่าใน 12 ราศี สุนัข (ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่า Inu เหมือนกัน) จะเป็นสัตว์ที่คลอดง่ายที่สุด ก็เลยเป็นที่มาของวันนี้ค่ะ

และการนับอายุครรภ์ว่ากี่เดือนแล้วของที่ญี่ปุ่นกับที่ไทยจะไม่ค่อยเหมือนกัน ที่ญี่ปุ่นจะนับแบบนี้ค่ะ
สัปดาห์ที่ 0-3  อายุครรภ์ 1 เดือน
สัปดาห์ที่ 4-7 อายุครรภ์ 2 เดือน
สัปดาห์ที่ 8-11 อายุครรภ์ 3 เดือน
สัปดาห์ที่ 12-15 อายุครรภ์ 4 เดือน
สัปดาห์ที่ 16-19 อายุครรภ์ 5 เดือน
สัปดาห์ที่ 20-23 อายุครรภ์ 6 เดือน
สัปดาห์ที่ 24-27 อายุครรภ์ 7 เดือน
สัปดาห์ที่ 28-31 อายุครรภ์ 8 เดือน
สัปดาห์ที่ 32-35 อายุครรภ์ 9 เดือน
สัปดาห์ที่ 36-39 อายุครรภ์ 10 เดือน (ช่วงที่คลอด)
ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลแนะนำให้เรานับเป็นสัปดาห์ดีกว่าที่จะนับเป็นเดือนค่ะ







วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังอบรมคอร์สคุณแม่ของทางโรงพยาบาล ครั้งที่ 1 (การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่และการดูแลทารกในครรภ์)

ทางโรงพยาบาลที่เราไปฝากครรภ์ เขามีคอร์สอบรมคุณแม่ฟรี แต่จะต้องลงทะเบียนก่อน เพื่อที่ว่าจะได้เตรียมเอกสารหรืออะไรให้เพียงพอ
ในการอบรมครั้งนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง  ชั่วโมงแรกจะเป็นคุณหมอที่ตรวจเรามาบรรยาย เอกสารที่ใช้จะเป็นของโรงพยาบาล ซึ่งในเอกสารก็จะเขียนตั้งแต่ปฏิทินการตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับตอนที่ตั้งครรภ์ ความผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ ฯ ไปจนถึงการเปลี่ยนผ้าอ้อม อาบน้ำให้ลูก พูดง่าย ๆ ก็คือ เนื้อหาตั้งแต่ตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ หลังการคลอด ในครั้งแรกนี้คุณหมอก็พูดเรื่องที่ควรระวังหลังจากที่ผ่านช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว  ซึ่งเราก็เก็บข้อมูลมาได้ตามนี้


เรื่องของการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ที่จะเกิดขึ้นไปพร้อม ๆ กับตอนที่ตั้งครรภ์
1. จะมีในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
2. เรื่องการเปลี่ยนแปลงกับผิวอย่างที่รักแร้ ที่แขน ที่หน้า คุณหมอแนะนำให้ทาครีมกันแดดที่ค่า SPF ไม่เยอะที่หน้าและที่แขน เพราะถ้าเกิดเป็นฝ้าแล้วจะรักษาหายยาก  ส่วนเส้นตรงที่ขึ้นตรงกลางท้องนั้นจะหายไปเองภายใน 2-3 เดือนหลังจากคลอด
3. การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก ควรจะอยู่ที่บวกลบ 10 กิโล หรือถ้าอย่างมากที่สุดก็ 15 กิโล
4. ท้องผูก


เรื่องการดูแลทารกในครรภ์
ควรมีการกดท้องเช็คดูว่าท้องแข็งหรือเปล่า กดได้หรือเปล่า ไม่จำเป็นต้องดูว่าปวดท้องหรือเปล่า เพราะอาจจะไม่ปวดแต่ท้องแข็ง  ซึ่งกรณีแบบนี้ควรจะต้องมาให้คุณหมอตรวจดู เพราะถ้าปล่อยไว้อาจจะไม่ดีต่อเด็กได้


เรื่องการใช้ชีวิตในช่วงตั้งครรภ์
ในช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 28 - 29 ถ้าคุณหมอไม่ได้พูดอะไรก็ให้เคลื่อนไหวทำงานบ้านได้ตามปกติ แต่ถ้าคุณหมอมีการพูดอะไรก็ให้พยายามอย่าเคลื่อนไหว เพราะช่วงนั้นปากมดลูกเริ่มจะเปิดแล้ว




ส่วนช่วงที่ 2 ก็จะเป็นคุณหมอคนอื่นมาบรรยาย ช่วงนี้ก็จะพูดเกี่ยวกับอาหารในช่วงที่ตั้งครรภ์
ที่สำคัญ ๆ หลัก ๆ ก็คือ
1. ทานอาหารให้สมดุลย์กัน ไม่เน้นอะไรที่มากเกินไป 3 มื้อใน 1 วัน
2. ในการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในหญิงตั้งครรภ์ ควรจะลดอาหารรสเค็ม
3. ในการจะรักษาน้ำหนักให้เป็นไปอย่างเหมาะสมให้ทานพวกไขมัน น้ำตาลในปริมาณที่พอดี
4. ในการป้องกันโลหิตจาง และการช่วยสร้างการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ควรทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมอย่างเพียงพอ
5. ให้เลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์
6. ให้รักษาอาการท้องเสีย หรือท้องผูกโดยเร็ว อย่างน้อยควรให้มีการถ่าย 1 ครั้งใน 1 วัน และออกกำลังกายพอเหมาะ


การอบรมในแต่ละครั้ง สิ่งที่ต้องนำไปด้วยก็จะมี
1. สมุดแม่และเด็ก เพราะทางโรงพยาบาลจะปั้มวันที่ที่เข้าฟังลงในสมุดด้วย
2. อุปกรณ์เครื่องเขียน





















วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ตรวจครรภ์ครั้งที่ 4 ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่น (อายุครรภ์ 16 สัปดาห์กว่า ๆ)

เราลืมบอกไปว่าตอนที่ตรวจครรภ์ครั้งที่ 2 หลังจากที่จ่ายค่าตรวจแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ถามว่าจะคลอดที่ไหน พอบอกว่าที่นี่ เขาก็ถามถึงกำหนดคลอด  แล้วก็ให้เอกสารมา จะเป็นเอกสารรายละเอียดของการมาตรวจแต่ละครั้งว่าจะตรวจอะไรบ้าง กี่สัปดาห์ครั้ง แล้วก็ให้เตรียมเงินมาจ่ายล่วงหน้า 100,000 เยน จ่ายตอนที่มาตรวจครั้งที่ 4 ซึ่งเขาก็มีอธิบายว่า 100,000 เยนนี้ค่าอะไรยังไงบ้าง แต่เราไม่ค่อยเข้าใจระบบเขาเท่าไหร่ ก็เลยไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรมาก

ถึงวันนัดตรวจ ก็ยื่นบัตรนัด สมุดสุขภาพแม่และเด็ก สมุดช่วยค่าตรวจ แล้วก็มีขอบัตรประกันสุขภาพเพิ่มเติมด้วย วันนี้มีนัดจ่าย 100,000 เยนที่ว่า เจ้าหน้าที่เลยให้เอกสารการรับรองการบันทึก ระบบการชดเชยการรักษาพยาบาลแผนกสูติกรรม (産科医療補償制度 登録証) มากรอก แล้วต้นฉบับให้เราเก็บไว้ 5 ปี สำเนาทางโรงพยาบาลเป็นคนเก็บ เราก็งงอีกนั่นแหละว่าคืออะไร เขาให้เก็บก็เก็บเอาไว้ตามที่เขาบอกอ่ะนะ

หลังจากนั้นอันดับแรกก็ไปเก็บปัสสาวะ  วัดความดัน  แล้วก็นั่งรอเรียก พอถึงคิวเราแล้ว ก็ชั่งน้ำหนัก
แล้วคุณหมอก็วัดขนาดของท้อง แล้วก็ซาวด์ที่หน้าท้อง ครั้งนี้เห็นกระดูกของเจ้าหนูชัดเจนมาก ๆ แขนขาขยับไปมา เจ้าหนูตัวใหญ่ขึ้นกว่าครั้งที่แล้วมาก มีเห็นก้อนหัวใจ ก้อนที่เป็นกระเพาะ เสียงหัวใจเต้นดังมาก ^^

หลังจากดูหน้าจอเสร็จแล้ว คุณหมอก็คืนผลตรวจจากการเจาะเลือดครั้งที่แล้วมาให้  จากนั้นก็บอกคุณหมอว่าเป็นหวัดอีกแล้ว คุณหมอก็เลยจัดยาแบบครั้งที่แล้วมาให้ แล้วก็เตือนไม่ให้ไปที่คนเยอะ ๆ แล้วก็ให้ใส่หน้ากาก

พอถึงตอนที่จ่ายค่าตรวจ ก็มีการเก็บ 100,000 เยน แล้วเจ้าหน้าที่ก็ให้เอกสารอธิบายเรื่องตอนที่คลอดว่าโรงพยาบาลมีเตรียมอะไรไว้บ้าง เวลาเข้าเยี่ยมกี่โมงถึงกี่โมง ตอนกลางคืนจะไม่ให้ญาติหรือพ่อของเด็กเฝ้าไข้ ถ้าคลอดตอนกลางคืน ญาติหรือแม้แต่พ่อของเด็กต้องมาเยี่ยมตอนเช้า ระบบแบบนี้ไม่เหมือนที่เมืองไทยเลยอ่ะ ที่เมืองไทยยังมีให้ญาตินอนค้างเฝ้าได้ แบบนี้ต้องขอให้เจ้าหนูคลอดตอนเช้าแล้วหล่ะ ^^

วันนี้เราก็เลยจองอบรมเรื่องการตั้งครรภ์ของโรงพยาบาลด้วย ไม่รู้ว่าเนื้อหาจะเหมือนกับของทางสำนักงานเขตหรือเปล่า

ค่าตรวจ+ค่ายาครั้งนี้  2,130 เยน
แล้วก็มีให้คาเฟโอเล่แบบไม่มีคาเฟอีนมาให้ด้วย
 (รูปกลับหัวไปหน่อย)
นัดครั้งต่อไปก็อีก 4 สัปดาห์