วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ไปฟังคอร์สอบรมคุณแม่ของสำนักงานเขตครั้งที่ 2 (พูดเรื่องอาหารที่ควรทานใน 1 วัน)

ครั้งที่ 2 ก็ยังคงนั่งเป็นกลุ่ม ๆ แต่ไม่ค่อยให้พูดเหมือนครั้งที่แล้ว ครั้งนี้เจ้าหน้าที่จะพูดถึงเรื่องของปริมาณอาหารที่จำเป็นในช่วงของการตั้งครรภ์ เอกสารที่ได้รับมาในครั้งนี้เยอะมาก จะบอกถึงว่าใน 1 วัน ควรทานอะไร ปริมาณกี่กรัม ถ้าทำได้อย่างที่เอกสารเขียนเราว่าก็ดีอ่ะนะ แต่เราคงทำไม่ได้แหง ๆ เลยคงเอาไว้มาดูอ้างอิงแล้วกัน
เริ่มจากการคำนวณหาพลังงาน (กิโลแคลอรี่) ปริมาณอาหารใน 1 วันที่จำเป็นต่อตัวเรา โดยวิธีคำนวณก็คือ
ขั้นตอนที่ 1  เอา ส่วนสูง (เมตร) * ส่วนสูง (เมตร) * 22  = น้ำหนักมาตรฐานของเรา


ขั้นตอนที่ 2  ให้นำน้ำหนักมาตรฐานของเรา * ค่ามาตรฐาน * ค่าระดับกิจกรรมประจำวัน = ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์
หมายเหตุของขั้นตอนที่ 2 ค่ามาตรฐาน ดูได้จาก ถ้าอายุ 18-29 ปี จะใช้ตัวเลข 22.1 มาคำนวณ,  แต่ถ้าอายุ 30-49 ปี จะใช้ตัวเลข 21.7 มาคำนวณ
ส่วนค่าระดับกิจกรรมประจำวัน ดูได้จาก ถ้ากิจกรรมประวันเป็นแม่บ้าน ทั้งวันจะนั่งเป็นส่วนใหญ่ จะใช้ตัวเลข 1.3 มาคำนวณ
ถ้ากิจกรรมประจำวันมีเดินบ้าง ทำงาน ยืน ๆ จะใช้ตัวเลข 1.5 มาคำนวณ
และถ้ากิจกรรมประจำวัน ทั้งวันจะยืนเป็นส่วนใหญ่ ใน 1 ชั่วโมงทำงานหนัก จะใช้ตัวเลข 1.7 มาคำนวณ


ขั้นตอนที่ 3 ถ้าช่วงตั้งครรภ์ ให้นำปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายใน 1 วันก่อนที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์ มาบวกกับตัวเลขต่อไปนี้ตามช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก ให้บวกเพิ่ม 50 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง ให้บวกเพิ่ม 250 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม ให้บวกเพิ่ม 450 กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก ให้บวกเพิ่ม 350 กิโลแคลอรี่


ตัวอย่างสมมุติว่าเราสูง 1.63 เมตร อายุ 30 ปี เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่จะนั่ง  ถ้าคำนวณตามข้างบนจะได้
ขั้นตอนที่ 1  =>   1.63 * 1.63 * 22 = 58.45
ขั้นตอนที่ 2  =>   58.45 * 21.7 * 1.3 =  1,648.87 กิโลแคลอรี่ ซึ่งจะเป็นปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายก่อนตั้งครรภ์
ขั้นตอนที่ 3 => ปริมาณอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในช่วงอายุครรภ์
ช่วงไตรมาสแรก 1,648.87+ 50 กิโลแคลอรี่  = 1,698.87 กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สอง  1,648.87 + 250 กิโลแคลอรี่ =  1,898.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงไตรมาสที่สาม  1,648.87 + 450 กิโลแคลอรี่ =  2,098.87  กิโลแคลอรี่
ช่วงให้นมลูก  1,648.87 +  350 กิโลแคลอรี่ = 1,998.87  กิโลแคลอรี่


จากวิธีคำนวณที่ว่ามา จริง ๆ เราก็ไม่ได้ดูละเอียดมากขนาดนี้ เพียงแต่รู้แค่เพียงว่า ที่ญี่ปุ่นเขาดูกันเป็นกรัม ๆ เป็นกิโลแคลอรี่กันเลย สุดยอดมาก ๆ
มิน่าถึงไม่ค่อยมีคุณแม่คนไหนที่อ้วนเลย (เท่าที่เห็นนะ)


ส่วนเรื่องน้ำหนักว่าควรขึ้นเท่าไหร่ ก็มีให้คำนวณด้วยนะ
คือเราจะต้องรู้ค่า BMI ของเราก่อน ซึ่งคำนวณได้จาก น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์  (กิโล) หารด้วย ส่วนสูง (เมตร) แล้วหารด้วยส่วนสูง (เมตร)
ยกตัวอย่าง น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์เรา 56 กิโล ส่วนสูง 1.63 เมตร
ค่า BMI = 56/1.63/1.63 = 21.077
ซึ่งถ้าค่า BMI อยู่ในช่วง 18.5 - 24.9 ถือว่าปกติ น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 7-12 กิโล
ถ้าค่า BMI ตั้งแต่ 25.0 ขึ้นไป ถือว่าอ้วน น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์ควรประมาณ 5  กิโล
ถ้าค่า BMI น้อยกว่า 18.5  ถือว่าผอม น้ำหนักที่ควรเพิ่มขึ้นช่วงตั้งครรภ์คือ 9-12 กิโล
และน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ให้ลดให้เหลือเท่าเดิมก่อนตั้งครรภ์หลังจากที่คลอดแล้วประมาณ 6 เดือน


ก็คงเป็นเกร็ดความรู้ใหม่สำหรับเรา แต่เราจะทำได้ตามหรือเปล่านี่อีกเรื่องนึง 555


สิ่งที่ต้องนำไปด้วย
1. สมุดสุขภาพแม่และเด็ก
2. อุปกรณ์การเขียน

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น